ส่องสมรภูมิ "แพลตฟอร์มดิจิทัล" รัฐต้อง "กำกับ-ดูแล" แต่อย่าควบคุม!!
"เอ็ตด้า" จับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง "เทคโนโลยีดิจิทัล" ที่มีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ตลอดจนขยายผลเข้ามาสู่ระบบ "เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม" การพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัล ไทยพร้อมแล้วหรือยัง!! ที่จะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเอง เพื่อท้าชนกับแพลตฟอร์มดิจิทัลของต่างประเทศ
ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) อธิบายว่า จากการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยล่าสุด พบว่าผู้ให้บริการดิจิทัลคอนเทนท์ ไทยเติบโตขึ้นเพียง 10% และเชื่อว่าผู้ประกอบการด้านนี้ของไทยน่าจะยังเติบโตกว่านี้ได้อีก เพราะเมื่อมองภาพรวมตลาดทั่วโลกเราจะเห็นว่ามีสัดส่วนเติบโตอย่างมาก แต่สัดส่วนที่คนไทยจะได้ประโยชน์ยังน้อย
ยกตัวอย่าง ยอดการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น โดยเฉพาะวิดีโอ บางรายที่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกเติบโตมากกว่า 40% ขณะที่ การใช้เวลาบนแอพพลิเคชั่น โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นการแบ่งปันวิดีโอ เติบโตสูงถึง 70-80% สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าคนในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก โจทย์ข้อสำคัญคือ จะมีการปรับตัวทั้งของภาครัฐและเอกชนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างไร เอ็ตด้า มองว่า ดิจิทัล วิดีโอ แพลตฟอร์ม เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ผู้ผลิตสื่อของไทยหลายราย มีต่างประเทศติดตามและนำสื่อไปใช้ ทำซ้ำ
แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มในด้านนี้ของคนไทยยังมีน้อย จึงมองถึงการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ โดยจะมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงข้อจำกัด โอกาส กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อสำหรับอุตสาหกรรม
แนะรัฐกำกับ-ดูแลสนับสนุน
ด้านปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรอบความคิดในเรื่องการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ไม่ได้มองที่บทบาทรัฐเป็นหลักอีกต่อไป เพราะ แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เป็นผู้เล่นระดับโลก ไม่ได้สนใจกฎระเบียบของแต่ละประเทศแต่จะมองว่าประเทศไหนที่มีผู้ใช้บริการ ก็จะหาทางนำบริการของตนเข้าไป ดังนั้น เครื่องมือเดิมๆ คือ กฎหมายแต่ละประเทศที่เคยเจรจาจึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มสื่อ (Media Platform) จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ความโปร่งใสและความเป็นธรรม และ 2. การแข่งขัน จะครอบคลุมประเด็นสำคัญหรือหลักปฏิบัติที่เรียกว่า หลักความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) ที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทำการลดความเร็วของผู้ใช้งานบางคนลงให้แตกต่างจากผู้ใช้งานคนอื่น
ทั้งนี้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็มีการอ้างถึงใน 2 ประเด็นนี้ไว้ โดยในประเด็นความโปร่งใสและเป็นธรรม ก็เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ จากการที่ปัจจุบันจะมี “แพลตฟอร์ม” เข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในการซื้อขายออนไลน์
ขณะที่ในประเด็นด้านการแข่งขัน ปัจจุบันในระดับโลกอย่างเช่นของสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการออกกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้ประกอบการ/แพลตฟอร์มรายเล็กหรือท้องถิ่น เพื่อดูแลคนตัวใหญ่ไม่ให้รังแกคนตัวเล็ก ดังนั้น ถ้ากฎหมายด้านกำกับดูแลแพลตฟอร์มของไทยกำหนดให้สอดคล้อง ก็จะเป็นไปตามแนวทางสากล
ส่อง 4 โมเดลจากต่างชาติ
ขณะที่ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัยโครงการศึกษาผลกระทบ ต่อการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การส่งเสริมและกำกับดูแลบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (โอทีที) ในบางประเทศที่สามารถนำแนวทางมาปรับใช้เป็นต้นแบบสำหรับประเทศไทยได้ พบว่าแต่ละประเทศจะมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน จำแนกได้ 4 โมเดลจากกรณีศึกษา ดังต่อไปนี้
1.สิงคโปร์ ใช้นโยบายเปิดเสรีให้ตัวเองเป็น “ฮับ” ของภูมิภาคเพื่อดึงฐานการลงทุนของอุตสาหกรรม เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก จำนวนประชากรในประเทศไม่เพียงพอสำหรับสร้าง economy of scale ปัจจุบันแพลตฟอร์มระดับโลกหลายราย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ต่างมีสำนักงานที่สิงคโปร์
2.เกาหลี ถือว่ามีความเป็นชาตินิยมและนำมาสู่การสร้าง Soft Power ในลักษณะที่ปกป้องตลาดภายในประเทศ และมีการส่งออกคอนเทนต์ไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่างชาติ เพื่อให้คอนเทนต์ได้เกิดและใช้สร้างรายได้ เพราะการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองจะทำให้มีภาระหนัก จึงเลือกใช้การพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ สามารถเกาะกระแสดิจิทัลได้ในลักษณะของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์
3.อังกฤษ เป็นประเทศที่มีการเปิดเสรีมากๆ และหากย้อนหลังไปจะพบว่าสถานีโทรทัศน์ในประเทศ รวมถึงบีบีซี ได้มีการขยับขึ้นไปสู่ โอทีทีก่อนที่เน็ตฟลิกซ์จะเข้าเจาะตลาด
4.ญี่ปุ่น ได้ใช้รูปแบบการเปิดตลาดเสรี และมีโอทีทีที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศจำนวนมาก มาจากทั้งช่องเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อุตสาหกรรมเกม อีกทั้งมีช่องยูทูบของตัวเองสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มจำนวนมาก เช่น ช่องอะนิเมะ
“ในไทยเองมีเอไอเอสขยายมาทำ AIS PLAY ซึ่งเป็นโอทีทีของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันถึงเวลาที่ต้องมองแล้วว่า เรามีการแข่งขันรายล้อม เราจะวางจุดยืนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีตัวอย่างของสิงคโปร์ ที่ใช้มาตรการลดหย่อนภาษีดึงดูดคนทำคอนเทนต์เก่งๆ คนทำแพลตฟอร์มจากต่างชาติเข้าไปตั้งฐาน เป็นข้อน่ากังวลสำหรับประเทศไทย ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์จะไหลออกไป”
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์