‘คลาวด์เอชเอ็ม’ เดินเกมรุกหนักคลาวด์ ตั้งเป้าโต 100% ทุกปี
คลาวด์ เอชเอ็ม มองทิศทางตลาดคลาวด์ในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง รับอานิสงส์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น องค์กรย้ายฐานประมวลผลและเก็บดาต้าบนคลาวด์ เล็งเดินเกมเชิงรุก พร้อมส่งบริการใหม่ตอบโจทย์ลูกค้า ตั้งเป้าเติบโตไม่น้อยกว่า 100% ทุกปี
นายณพัชร อัมพุช กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์ เอชเอ็ม จำกัด ในกลุ่มบริษัทเบญจจินดา กล่าวว่า ธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่ผ่านต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 และ 2565 จากการสำรวจและประเมินอัตราการเติบโตของตลาดอยู่ระหว่าง 30-40% หรือประมาณ 5 พันล้านบาท
สำหรับปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ปัจจัยแรก องค์กร หน่วยงานต่างๆ ต้องการให้เกิดความคล่องตัว (Agility ) เกิด ความยืดหยุ่น ในระบบการทำงานยิ่งขึ้น จึงย้ายระบบและข้อมูล ที่มีอยู่เดิมในบริษัทขึ้นระบบคลาวด์
ขณะที่ ปัจจัยที่สอง การเข้าสู่โลกดิจิทัล ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลกธุรกิจ จึงทำให้ทุกบริษัทต้องเร่งทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมเชั่น
“ทุกวันนี้องค์กรไทยวางการลงทุนคลาวด์เป็นท็อปไพรออริตี้ ยิ่งเมื่อเจอโควิดต่างเน้นการพัฒนาไปสู่คลาวด์เฟิร์สและโมบายเฟิร์ส เพื่อความคล่องตัว ยืดหยุ่น และลดค่าใช้จ่าย”
สำหรับโอกาสทางการตลาดในประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนอยู่กว่า 7 แสนบริษัท ที่แอคทีฟมีอยู่ราว 5 บริษัท เบื้องต้นบริษัทที่มีรายได้ต่อปี 10 ล้านบาทและมีศักยภาพการลงทุนคลาวด์ มีอยู่ราว 1.5 แสนราย ทว่าที่ใช้บริการคลาวด์มีไม่เกิน 4-5 พันราย
“องค์กรรัฐและเอกชนส่วนใหญ่ยังใช้ระบบเดิม ฉะนั้นกลุ่มเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการใช้งาน ในราคาที่เหมาะสม ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราคือในทุกเซ็กเมนท์และทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากคลาวด์เหมาะกับทุกธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อเทคโนโลยี”
คลาวด์ เอชเอ็ม วางตำแหน่งเป็น “คลาวด์ เซอร์วิสโพรวายเดอร์” เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับท็อป 3 ในประเทศไทย ให้บริการคลาวด์แบบครบวงจร ครอบคลุมการทั้ง Infrastructure as a Services (IaaS), Platform as a Service (PaaS) และ Software as a Service (SaaS) บนดาต้าเซ็นเตอร์ของตัวเอง และมีการให้บริการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งระดับโลกเช่น Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure และ Google Cloud Platform (GCP)
ปัจจุบัน มีดาต้าเซ็นเตอร์ 3 แห่ง โดยเป็นไม่กี่รายที่มีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ต่างจังหวัดซึ่งสำคัญมากสามารถรับมือกับเหตุการณ์ประท้วง น้ำท่วม ช่วยเพิ่มความเสถียรการให้บริการ ทั้งบริษัทมีแผนขยายอินฟราตรักเจอร์ด้วยงบการลงทุน 100 ล้านบาท
“เราเน้นการพัฒนาบริการคลาวด์ให้มีความเสถียร ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง มีบริการครอบคลุมลูทั้งคลาวด์ภายในประเทศและต่างประเทศ”
นอกจากนี้ จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและบริการที่ลูกค้ายอมรับ และเป็นจุดแข็งของคลาวด์ เอชเอ็ม จึงได้ออกบริการใหม่เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ายิ่งขึ้นด้วย บริการ Chief Technology Officer as a Service (CTOaaS)
ปัจจุบัน มีลูกค้ากว่า 1,000 ราย ครอบคลุมตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่รวมถึงสตาร์พอัพ การเงิน ประกัน ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง ทุกปีมีเป้าหมายที่จะเติบโตไม่น้อยกว่า 100%
เขากล่าวว่า หลังจากนี้คลาวด์จะเป็นตัวจักขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจไทย รองรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้วยทุกการแข่งขันจะอยู่ในรูปดิจิทัล ทุกอุตสาหกรรมต้องใช้คลาวด์ช่วยยกระดับการแข่งขัน ขณะเดียวกันการสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจที่สำคัญไม่เพียงการวางกลยุทธ์ธุรกิจ แต่ยังมีการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง
บริษัทพบว่าทิศทางการลงทุนของลูกค้าแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ ซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น เก็บข้อมูลไว้ภายในองค์กรของตนเอง ลดภาระใสการดูแลระบบของตนเอง เพิ่มความคล่องตัว อีกทางหนึ่งเป็นเรื่องการลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเสริมจุดแข็งสำหรับแข่งขันบนโลกดิจิทัล และเข้าไปสู่โลกการค้าออนไลน์
อย่างไรก็ดี การมาของโควิดส่งผลกระทบเล็กน้อย แม้ว่ารายได้ไม่ได้ตกและยังเติบโตได้เท่าตัว แต่เสียโอกาสการเข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าบีทูบีที่ชินกับการพบหน้า แต่คาดว่าช่วงปลายปีนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ปี 2565 จะมีบริการที่เข้าถึงลูกค้า รวมถึงทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรด้วยวิธีการเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
บริษัทตั้งเป้าว่า ปี 2564 จะมีรายได้ 150 ล้านบาทหรือเติบโต 100% จากปีที่ผ่านมา และในปี 2565 ตั้งเป้าเติบโตอีก 100% พร้อมรักษาความเป็นผู้นำตลาดคลาวด์อันดับ 1 ใน 3 ไว้ให้ได้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์