"ไฮฟ์ มาร์เก็ต" ฟู้ดคอมมูนิตี้ เพิ่มโอกาสรอด-รุ่งธุรกิจร้านอาหาร
จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ความผิดพลาดของธุรกิจร้านอาหารทำให้ "ณปภัช พิทักษ์ศิริพรรณ” มองเห็นจุดอ่อนด้านการจัดการวัตถุดิบ การจัดหาสินค้าหรือแม้กระทั่งช่องทางการเข้าถึงผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม "ไฮฟ์ มาร์เก็ต" เพื่อตอบโจทย์ฟู้ดคอมมูนิตี้ขึ้น
ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวแปรของการเสียโอกาสในการค้าขาย และยังไม่มีแพลตฟอร์มใดที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาและช่วงชิงช่องว่างทางธุรกิจดังกล่าว จึงนำมาสู่การพัฒนา “ไฮฟ์ มาร์เก็ต" (HIVE Market)" และเปิดให้บริการไปเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
แพลตฟอร์มตลาดขายส่งวัตถุดิบและสินค้าประกอบธุรกิจอาหาร ศูนย์กลางนัดพบของผู้ซื้อและผู้ขายทั้งค้าปลีกค้าส่งออนไลน์ ที่จะช่วยเชื่อมโยงผู้ประกอบการด้านวัตถุดิบ และผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้สามารถร่วมดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น
คอมมูนิตี้ร้านอาหาร
ณปภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮฟ์ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ไฮฟ์มาร์เก็ต มีฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจอาหารโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานจนถึงพรีเมียม เช่น อุปกรณ์ครัว ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหารสด อาหารแห้ง
โดยมีการแนะนำข้อมูลรายละเอียดของสินค้าจากผู้จัดจำหน่าย ทำให้สามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าของแต่ละรายเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงบริการด้านการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและปลอดภัยโดยผู้จัดจำหน่ายและพันธมิตรขนส่ง
ไฮฟ์มาร์เก็ตแตกต่างจากแพลตฟอร์มทั่วไป คือ 1.คัดกรองกลุ่มธุรกิจที่มีตัวตน มีระบบบัญชีหรือเอกสารที่จะช่วยการันตีถึงประสบการณ์ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาเลือกสินค้าในแพลตฟอร์ม 2.หมวดหมู่สินค้ามีทั้งระดับสแตนดาร์ดและระดับพรีเมียม
3.การบริหารจัดการ ที่สามารถนำตัวแทนของร้านค้ามากขึ้นระบบได้ภายใต้มอลล์ และสามารถทำการตลาดในภาพรวมได้ โดยที่ผู้ซื้อสามารถเลือกสินค้าจากสโตร์ใกล้เคียง ทำให้เกิดการขาย B2C และ B2B ได้ในแพลตฟอร์มเดียว
4.ฟังก์ชั่นสนับสนุนการซื้อขายของสดได้เหมือนกับตลาดทั่วไป และผู้ขายสามารถจัดสินค้าตามออเดอร์ 5.สามารถใส่ราคาเป็นระดับได้ 6.ระบบจัดการเอกสารทั้งกระบวนการซื้อขาย
“แม้เราจะเป็นน้องใหม่ในวงการ แต่ก็มีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เริ่มตั้งแต่การช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการ เกษตรกร เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงตลาดร้านอาหาร หรือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น” ณปภัช กล่าว
สิ้นปี 64 เข้าสู่โหมดดิจิทัล
สำหรับทิศทางธุรกิจ และแผนการตลาด ไฮฟ์ฯ ตั้งเป้าภายว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมีบริการ HIVE RI, HIVE Market , spoonwalk ครบทั้ง 3 แพลตฟอร์ม และในปี 2565 จะพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งหมดเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีมีแผนดำเนินการในส่วนของ Big Data Analytics และเอไอ บนแพลตฟอร์ม โดยจะนำข้อมูลฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย มาวิเคราะห์และสามารถนำไปพัฒนาธุรกิจต่อได้ อาทิ การบริหารจัดการ สั่งซื้อวัตถุดิบ
อีกทั้งการทำการตลาดเฉพาะบุคคล และคำแนะนำให้ยูสเซอร์เข้าถึงรีวิวที่ถูกใจและอาหารที่ถูกปาก รวมทั้งนำ AR/VR มาทำเป็น POC ผ่านการพัฒนาเป็นเมนู 3D หรือ จำลองชอปปิงเซ็นเตอร์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการซื้อขาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565
ขณะที่ spoonwalk ที่จะมี Affiliate Program เข้ามาช่วยในการสร้างเรื่องราวของสินค้า การรีวิว หรือนำผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพมานำเสนอให้กับผู้บริโภค รวมถึงแพลตฟอร์ม HIVE RI ที่จะช่วยให้ทุกร้านอาหารประสบความสำเร็จกับการบริหารจัดการร้านอาหารได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น ระบบวิเคราะห์ข้อมูล ระบบจัดการสินค้าคงคลัง ระบบจัดการโปรโมชั่น ระบบจัดการบุคลากรและบัญชีเงินเดือน ระบบบัญชีร้านอาหาร ระบบชำระเงิน ล้วนแต่มีความสำคัญ และเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ร้านอาหาร 90% ขาดทุนและปิดตัวลงภายในปีแรก ส่วน 5% ปิดตัวภายใน 5 ปี
เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ณปภัช กล่าวอีกว่า ไฮฟ์มาร์เก็ตตั้งใจที่จะออกแพลตฟอร์มที่เป็นฟู้ดดิลิเวอรี่ภายในสิ้นปีนี้ โดยพยายามดึงกลุ่มร้านอาหารเข้ามาในระบบให้ได้ประมาณ 1 หมื่นราย
“ส่วนรายได้หลักจะมาจากค่าคอมมิชชั่นที่เกิดจากการซื้อขาย ซึ่งฝั่งมาร์เก็ตเพลสจะไม่เกิน 10% ส่วนแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ค่าคอมมิชชั่นจะอยู่ที่ 15% ทั้งนี้การใช้งานทั้งหมดเบื้องต้นจะปักหมุดที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก จากนั้นในอนาคตจะมีการขยายสู่พื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม”
เมื่อถามถึงขนาดของตลาดที่ไฮฟ์ฯเข้าไปช่วงชิงสัดส่วนเค้กก้อนนี้ เขา มองว่า มูลค่าตลาดร้านอาหารอยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท ปีที่ผ่านมาลดลง 30-40% อีกส่วนคือตลาดวัตถุดิบที่ร้านอาหารจะมีต้นทุนอยู่ที่ 30-40% โดยเฉลี่ย จึงมองว่าตลาดค่อนข้างใหญ่
ส่วนในอนาคตหากดูจากสถิติอีคอมเมิร์ซในไทย มีการคาดการณ์ว่าในอีก 5-10 ข้างหน้าจะเติบโต 10-20% ดังนั้น ในแง่ของ B2B จึงมองว่ายังมีโอกาสอีกมาก รวมทั้งแผนที่จะขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศภายใน 3 ปี
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สเกลได้และยั่งยืน ณปภัช ย้ำว่า หลักสำคัญคือ การสร้างความน่าเชื่อถือทั้งกับพาร์ทเนอร์และลูกค้า พร้อมกับโฟกัสประสบการณ์ลูกค้าเป็นหลัก เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและสเกลได้