“โปรติโก้” โปรตีนจิ้งหรีดแบรนด์ไทย โกอินเตอร์สู่ตลาดแห่งอนาคต
เมื่อกระแสรักษ์โลกนำมาสู่การพัฒนา "อาหาร" ที่ใช้โปรตีนจาก "แมลง" ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสให้ “ลัลน์ลลิต สุคนธรัตนสุข” ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ดีกรีสัตวแพทย์ เห็นช่องทางสร้างรายได้ผ่านการเป็นเจ้าของกิจการ “โปรติโก้” ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีด
กระแสรักษ์โลกใส่ใจสิ่งแวดล้อมนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ที่เน้นถึงความต้องการในอนาคตเป็นหลัก สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ อาหารที่ใช้โปรตีนจากแมลงแทนเนื้อสัตว์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายบริษัทเริ่มผลิตจำหน่ายแล้ว เช่น เนื้อเบอร์เกอร์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากหนอนนก ผักโขม ขมิ้นและบีทรูต โปรตีนบาร์จากแป้งจิ้งหรีด หนอนนกและจิ้งหรีดกรอบผสมถั่วต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ไทยจะผลักดันชูโรงให้ผลิตภัณฑ์จากแมลงก้าวไกลสู้ตลาดโลก
สพ.ญ.ลัลน์ลลิต สุคนธรัตนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท ลัลน์ลลิต อะกริ ฟู๊ดส์ จำกัด ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เจ้าของแบรนด์ “โปรติโก้”(ProteGo) ภายใต้การบ่มเพาะของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทุนวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โปรติโก้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีด เพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้บริโภค
ปั้นจิ้งหรีดแบรนด์ไทยส่งออก
ลัลน์ลลิต เล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียว่า มาจากช่วงเรียนปี 4 ที่ต้องทำโปรเจ็คจบของมหาวิทยาลัย โดยได้ทำโครงการเกี่ยวกับจิ้งหรีด เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดจำนวนมาก พบว่า 1 ครัวเรือนสามารถเลี้ยงได้ถึง 1 ตัน และโดยประมาณมีมากถึง 40-50 ครัวเรือน จึงถือว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูงในเชิงอุตสาหกรรม
กระทั่งเรียนจบก็พบว่าความต้องการโปรตีนจิ้งหรีดในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก จึงได้นำองค์ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาฟาร์มจิ้งหรีดขนาดเล็กสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำร่องมาตรฐาน พร้อมกับส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงอย่างเป็นระบบมากขึ้น ผ่านการช่วยจัดระเบียบและยกระดับฟาร์มของเกษตรกรในชุมชนให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแปรรูปและส่งออก ทำให้จิ้งหรีดเทียบเท่ากับสัตว์เศรษฐกิจประเภทอื่นๆ
หลังจากการดำเนินการทั้งหมดเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้เธอสามารถมีโรงงานเล็กๆ ที่ได้มาตรฐาน อย. และมาตรฐานการส่งออก โดยถือเป็นฟาร์มนำร่อง GAP ในประเทศไทย ทำให้สามารถส่งออกได้อย่างราบรื่น
จากการสำรวจพบว่า เฉพาะธุรกิจแมลงกินได้ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12,800 ล้านบาท โดยตลาดเอเชียครองสัดส่วน 30-40% ของทั้งโลก ส่วนที่เหลือกระจายตัวอยู่ในโซนยุโรป ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแมลงเติบโตปีละ 20%
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของโปรติโก้จะเป็นเซกเตอร์โรงงานที่มีการผลิตโปรตีนอยู่เดิม และรับโปรตีนทางเลือกจากแมลงไปเป็นวัตถุดิบเสริม โดยจะเป็นในรูปแบบ B2B เนื่องจากลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศส่วนใหญ่นิยมนำโปรตีนเบสไปแปรรูปสินค้า เพราะการรับประทานโปรตีนทางเลือกจากแมลงได้รับการยอมรับและบริโภคอย่างแพร่หลาย
“ในช่วงปีแรกๆ ในการทำการตลาด ผู้บริโภคในไทยยังไม่ค่อยเข้าใจและยังไม่รู้จักโปรตีนจิ้งหรีด แต่ปัจจุบันเริ่มรับรู้และยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทรนด์การบริโภคโปรตีนจากแมลงเป็นที่นิยมในต่างประเทศ จิ้งหรีดจึงกลายเป็นเบสโปรตีนของเขา ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ก็ย้อนกลับเข้ามาในประเทศไทยและค่อยๆ รับรู้เรื่องของโปรตีนทางเลือกจากแมลง อีกทั้งปัจจุบันโปรตีนจากแมลงได้เข้าไปอยู่ในอาหารเสริมและอาหารในรูปแบบอื่นๆ หลากหลายขึ้น”
แมลงเศรษฐกิจเปลี่ยนโลก
โปรติโก้สื่อสารแบรนด์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค อีกทั้งพยายามแปรรูปวัตถุดิบให้อยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเพิ่มสูตรความเข้มข้นของโปรตีน คือ โปรตีนปกติ 65% และโปรตีนพิเศษ 79.5% ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
“เราคาดว่าในปี 2565 หากมีการจำหน่ายและตอบรับกับออเดอร์ที่เข้ามาจะสามารถทำรายได้สูงถึง 20-25 ล้านบาท สำหรับความท้าทายของการทำธุรกิจนี้คือ การทำให้จิ้งหรีดเป็นมากกว่าโปรตีน สิ่งที่จะชูได้มากกว่านี้และแมทช์กับกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจนขึ้น อย่างที่เราทำการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมพร้อมกับทดลองกับกลุ่มผู้สูงอายุ”
ส่วนเป้าหมายในอนาคตคือการพัฒนาโปรตีนจากจิ้งหรีดให้อยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่การต่อยอดไปสู่การใช้ในอาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์ผงเพื่อชงดื่มสำหรับผู้สูงอายุ โดยนำไปทดลองกับผู้สูงอายุร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมจำหน่ายภายในปีนี้ อีกทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ออกกำลังกาย หรือ Functional Food
“ขณะที่กลยุทธ์การทำธุรกิจเพื่อให้สเกลได้และยั่งยืนมองว่า ต้องรู้จักสินค้าของเราเป็นอย่างดีกว่าคนอื่น และจะต้องมองเห็นจุดที่ต่างจากคนอื่น เพื่อนำความแตกต่างเหล่านั้นไปสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัท จากนั้นเวลาเราทำตลาดจะต้องนำเสนอให้แตกต่างเช่นกัน
รวมทั้งเกษตรกรที่ดำเนินการเลี้ยงจิ้งหรีดควรตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีด ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการกับคู่ค้า รวมถึงเกิดข้อบกพร่องในการดำเนินธุรกิจน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและอีโคซิสเต็มในการจัดจำหน่ายแก่คู่ค้าทั้งในและต่างประเทศต่อไปในอนาคต” สพ.ญ.ลัลน์ลลิต กล่าว