‘ดิเอเชี่ยนพาเรนท์’ ลุยพัฒนาคอนเทนท์จับกลุ่มครอบครัวยุคใหม่
‘ดิเอเชี่ยนพาเรนท์’ ชี้โควิดดันออนไลน์คอนเทนท์กลุ่มแม่และเด็กโตก้าวกระโดด เดินหน้าพัฒนาฟีเจอร์-คอนเทนท์คุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการครอบครัวยุคใหม่ วางตำแหน่งเป็น “Health-Technology Company” มั่นใจธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง
นางนิธินันท์ อัศวทร กรรมการบริษัท ทิคเคิลด์ มีเดีย จำกัด และผู้จัดการประจำประเทศไทย ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ (theAsianparent) สังคมออนไลน์ครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตสู่ชีวิตวิถีใหม่ เช่นเดียวกับ “กลุ่มครอบครัว” ที่ต้องเปลี่ยนมาทำงานและเรียนที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยง
โดยวิกฤติไม่เพียงส่งผลต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัญหาด้านสังคมที่หลายครอบครัวต้องเผชิญจากการที่ผู้ปกครองต้องทำงานที่บ้านควบคู่ไปกับการดูแลลูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับแม่และพ่อในยุคปัจจุบัน
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคอนเทนท์ที่เกี่ยวกับเคล็ดลับและเทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยตนเองกลายเป็นหนึ่งในคอนเทนท์ยอดนิยมที่ผู้ปกครองค้นหา เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการพัฒนาทักษะและพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก รวมถึงการปรับตัวของพ่อแม่เอง
จากเดิมข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นตามความเชื่อ ได้กลายมาเป็นการค้นหาข้อมูลทางการ แพทย์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องจากสังคมออนไลน์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับตนเอง
ดิเอเชี่ยนพาเรนท์พบด้วยว่า จำนวนการค้นหาคอนเทนท์บนโลกออนไลน์พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การหาตัวช่วยมาเติมเต็มความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต่างมองหา
ดังนั้นแนวทางธุรกิจของบริษัท วางตำแหน่งเป็น “Health-Technology Company” มุ่งผลิตคอนเทนท์ที่ตอบสนองต่อความต้องการ โดยได้นำความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากกลุ่มแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่ชำนาญในด้านต่างๆ รวมถึงนักโภชนาการมาร่วมสร้างสรรค์ให้มีความหลากหลายและเป็นที่สนใจของผู้ปกครอง
ที่ผ่านมา ต่อวันการใช้งานแอพพลิเคชั่นดิเอเชี่ยนพาเรนท์มีแอคทีฟยูสเซอร์หลักแสนคนที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคนิคการดูแลลูกช่วงโควิด-19 ขณะที่แต่ละเดือนมียอดผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์กว่า 6 ล้านคน เพจวิวกว่า 32 ล้านครั้ง
“เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะและพัฒนาการของลูกกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก สอดคล้องไปกับภาพรวมตลาดซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายแบรนด์ได้นำการสร้างสรรค์คอนเทนท์ในลักษณะดังกล่าวมาใช้เป็นสะพานเชื่อมเพื่อเข้าถึงกลุ่มครอบครัว และหากสามารถปรับตัว ใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ช่วงเวลานั้นๆ จะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจที่สูงขึ้น”
ปัจจุบัน แบรนด์ที่อยู่ในธุรกิจแม่และเด็กยังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาด โดยเน้นทำการตลาดโดยตรงสู่กลุ่มลูกค้าผ่านคอมมูนิตี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม(engagement) ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
นางนิธินันท์เผยว่า กระแสนิยมของกลุ่มแม่และเด็กที่หันมาใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้นกว่าในอดีตผลักดันให้รายได้ของบริษัทปี 2564 เติบโตกว่า 150% และมั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจปี 2565 เตรียมขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรและนักลงทุน ในประเทศไทยจะมีการเพิ่มคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ ขยายบริการไปสู่การตลาดแบบออฟไลน์ สร้างการมีส่วนร่วมผ่านคอมมูนิตี้และโซเชียลมีเดียต่างๆ
พร้อมกันนี้ พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่ประหยัดเวลาและเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงระบบผู้ช่วยจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับแม่ และ “VIP MOM” อีกหนึ่งโปรเจคพิเศษ คอมมูนิตี้ใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่คุณแม่ยุคใหม่ผ่านการเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์
ปัจจุบัน ดิเอเชี่ยนพาเรนท์มีทีมนักวิจัยอยู่ทั่วอาเซียนซึ่งทำให้มีฐานข้อมูลเชิงลึก สามารถเข้าใจความต้องการในแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ มีโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแม่ในประเทศไทย “Sidekicks” โครงการที่มุ่งส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย พร้อมผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายช่วยเหลือครอบครัวที่สูญเสียแม่และเด็กระหว่างคลอดให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับนานาประเทศ มีกำหนดจัดระหว่าง 25 ธ.ค.2564 ต่อเนื่องไปจนถึง 8 มี.ค.2565