เปิดภารกิจ NIA หน่วยงานสร้างนวัตกรรมแห่งชาติ
วันที่สองของงาน virtual forum "THAILAND Move on : Reshaping Landscape to Smart City ก้าวต่อไป ภูมิทัศน์ใหม่ เมืองอัจฉริยะ" โดย เนชั่นทีวี สร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาท NIA กับการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมืองและภูมิภาค
วันที่สองของงานจัดขึ้นในธีม An Intelligent landscape of Smart City โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมเป็นวิทยากรการบรรยายหัวข้อ “โร้ดแม็พนวัตกรรมมุ่งสู่เมืองอัจริยะ: An Innovation Roadmap Toward Smart City” กล่าวว่า
NIA ไม่ได้เป็นหน่วยงานหลักในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Smart City โดยตรง แต่มีหน้าที่ในเรื่องของการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติของประเทศ โดยบทบาทหลักคือเน้นการสร้างนวัตกรรมและนวัตกรรมเมือง
การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้จะไปตอบคำถามในเรื่องของการพัฒนาเมืองใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือ Area and Regional Connect เพื่อยกระดับระบบนวัตกรรมภูมิภาค และพัฒนาระบบระเบียงนวัตกรรม และส่วนที่ 2 คือการพัฒนาพื้นที่เชิงกายภาพ
ดร.พันธุ์อาจ อธิบายว่า การพัฒนาเมืองในส่วนแรกเพื่อยกระดับระบบนวัตกรรมภูมิภาคและพัฒนาระบบระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) ตอนนี้มีการพัฒนาที่เน้นเรื่องการยกระดับห่วงโซ่คุณภาพ และการทำงานในส่วนของภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม-สถาบันการศึกษา-สถาบันวิจัย โดยระดับในส่วนของภูมิภาคคือเมืองเชื่อมเมือง สมาร์ทซิตี้จะทำให้นวัตกรที่อยู่ในเมืองสามารถทำนวัตกรรมได้ ซึ่งนำไปสู่ส่วนที่ 2
ส่วนที่ 2 คือการพัฒนาพื้นที่เชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผังย่านที่เรียกว่า “ย่านนวัตกรรม” ที่ทำให้ผู้ประกอบการ นวัตกร สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และหน่วยงานราชการ สามารถเข้ามาทำกิจกรรมด้านนวัตกรรมร่วมกันได้ และทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นแหล่งสร้างงานและกิจกรรมหลายอย่าง ทำให้เกิดมูลค่าใหม่ๆ ขึ้นมาและมีอัตลักษณ์ของเมืองไปด้วย
ขณะนี้ทาง NIA กำลังดำเนินกิจกรรมดังนี้ คือ Innovation Corridor หรือระเบียงนวัตกรรม ซึ่งได้แก่ กทม.กับ EEC ที่ลากยาวไปตั้งแต่บริเวณถนนพหลโยธิน ถึงพระรามสี่ ตัดเข้าไปที่บางนาตราด ตรงไปที่ 3 จังหวัดของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC
ขณะนี้มีพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ย่านที่ดำเนินการอยู่ประมาณ 16 ย่าน รวมถึงภาคเหนือตอนบน 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด มีภาคีอยู่ทั้งหมด 217 ภาคีทั้งในส่วนรัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย ตอนนี้มีนวัตกรอยู่ในเครือข่ายประมาณ 12,000 คน ฉะนั้นสิ่งที่ NIA ทำคือการทำเรื่องนวัตกรรมเมือง ระบบนวัตกรรมในภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดย่านนวัตกรรม
การเลือกว่าจุดไหนจะเป็นจุดนำร่องสำหรับย่านนวัตกรรมมี 3 ปัจจัย คือ ต้องมีสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ มีสาขาธุรกิจที่ชัดเจนอยู่ในพื้นที่ๆ สามารถเดินถึงกันได้ อย่างบางย่านจะมีการแพทย์อยู่มาก เช่น ย่านโยธีบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีโรงพยาบาล 7,000 กว่าเตียง ก็แปลงเป็น Yothi Medical Innovation District หรือย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี,
อีกปัจจัยคือสินทรัพย์เชิงกายภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้ มีพื้นที่ทางธุรกิจอยู่ เช่น CyberTech District ซึ่งเกี่ยวข้องกับดิจิทัลและไซเบอร์เทคโนโลยี บริเวณเส้นสุขุมวิทตอนปลาย ที่ NIA ทำงานร่วมกับทรู ดิจิทัล พาร์ค,
ปัจจัยสุดท้ายคือมีคนอยู่อาศัย ซึ่งต้องเร่งสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ สร้างผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ 24 ชั่วโมง 7 วันในหนึ่งสัปดาห์
ทั้งนี้ ย่านใหม่ที่ทาง NIA เพิ่งเปิดตัวคือย่านนวัตกรรมอารีย์ ซึ่งเป็นย่านกายภาพที่ทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม ทั้งยังมีในส่วนของหน่วยงานราชการที่ทำเรื่องของดิจิทัล รวมทั้งเอกชน
สำหรับการดึงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมนั้น ดร.พันธุ์อาจระบุว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักมี 4 กลุ่ม คือ เอกชน ภาครัฐที่เป็นรัฐบาลส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา-สถาบันวิจัย และประชาสังคม ซึ่ง NIA สนับสนุนการทำสิ่งที่เรียกว่า ”นวัตกรรมสังคม” โดยในจังหวัดที่ยากจนที่สุด 10 จังหวัดได้มีการพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ อย่างเกษตรยั่งยืน นอกจากนั้นทาง NIA ยังพยายามดึงให้เด็กหรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากจากพื้นถิ่น สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมในเชิงกายภาพได้
NIA ยังยกระดับการเชื่อมเมืองนวัตกรรมหลักๆ 200 เมืองทั่วโลก ภายใต้เป้าหมายของการร่วมมือกับอีกประมาณ 30 ประเทศที่เป็นประเทศอันดับต้นๆ ในดัชนีนวัตกรรมโลก ให้ทำงานร่วมกับเมืองหลัก ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ กรุงเทพ ขอนแก่น เช่น เมืองฟุกุโอกะ โอซาก้า เทลอาวีฟ สตอกโฮล์ม เบอร์ลิน ซึ่งทาง NIA มี Launching pad สำหรับนวัตกรที่อยากทำงานและไปอยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย โดยเมื่อนวัตกรจากเมืองนวัตกรรมมาอยู่ในไทยจะเป็นกลจักรสำคัญให้เกิดนวัตกรรมและเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้
ทาง NIA ยังได้ร่วมกับเทศบาลขนาดใหญ่และเล็ก อย่างเทศบาลนครเชียงใหม่, พัทลุง รวมถึงแขวงและเขตในกรุงเทพฯ ในการสร้างให้เกิดพื้นที่สาธารณะในลักษณะของการทำย่านนวัตกรรม
ที่สำคัญคือต้องมี Innovation Lab ที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและเอกชน เพื่อทำให้เกิดผังและแผนในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในระดับเมืองและในระดับจังหวัด
ดร.พันธุ์อาจ ระบุว่า อีกส่วนที่สำคัญคือจำเป็นต้องพัฒนานักลงทุนภายในจังหวัด เพราะเมื่อมีธุรกิจใหม่ขึ้นมา คนก็จะอยากอยู่ในพื้นที่ จึงต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับนวัตกร
NIA ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานวิชาการ โดยเฉพาะคณะสถาปัตยกรรมทั่วประเทศ ในการยกระดับความเข้าใจในเรื่องของนวัตกรรมและการทำผังย่าน เพราะการมีผังย่านจะทำให้ทราบได้ว่าในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพจะเป็นอย่างไร
การทำงานเหล่านี้ถือเป็นการรวมเอาภาคประชาสังคมเข้ามา เช่น ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ทาง NIA ได้ร่วมมือกับเทศบาลในการทำผังย่านที่เรียกว่า “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” ซึ่งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำผังย่านตั้งแต่วันแรก
สำหรับการนำนวัตกรรมมากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือนวัตกรรมสังคม ซึ่งต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่อยากทำพื้นที่เกษตรให้เป็นเกษตรออร์แกนิก ซึ่งก็ต้องมีการทำงานร่วมกับเทศบาล ประชาสังคม สถาบันการศึกษา และสตาร์ทอัพด้านเกษตร อันถือเป็นการสร้างกระบวนการทางนวัตกรรมและทำให้คนสามารถจัดการนวัตกรรมในระดับพื้นที่เมืองและชุมชนได้
อีกส่วนหนึ่งคือการมองไปถึงการมีบริษัทที่เติบโตและอยู่ในพื้นที่เมืองนั้นๆ ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯอย่างเดียว เช่น การสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตเป็นหลักร้อยล้านพันล้านหรือกลายเป็นยูนิคอร์นนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กรุงเทพฯที่เดียว
สตาร์ทอัพเหล่านี้จะมีการสร้างงานมากมาย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ เช่น พื้นที่ทำธุรกิจช่วงแรกๆ อาจอยู่ในมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็เริ่มซื้อที่ดิน และพัฒนาพื้นที่ย่านนวัตกรรม อย่างย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก
ในประเด็นเรื่อง Big Data นั้น มี 4 ประเด็น โดยในส่วนของ NIA สนับสนุน Data-driven Innovation จึงพัฒนาแพลทฟอร์ม data.nia.or.th ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบนวัตกรรม ข้อมูลเชิงพื้นที่ในระดับเมือง ระดับจังหวัดเข้ามา ในด้านที่เกี่ยวข้องกับบริษัท สาขาธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานกายภาพทางนวัตกรรมว่าอยู่ที่ไหน
ฉะนั้นเวลาที่เข้าไปดูในเว็บดังกล่าวจะมี dashboard ระดับเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือขอนแก่น ทำให้ทราบว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร
อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาดัชนีนวัตกรรมเมือง คือการดึงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเมืองเข้ามา และสามารถบอกได้ว่าในแต่ละปีในการสำรวจนั้น เมืองมีความเป็นนวัตกรรมในระดับท้องถิ่น ระดับย่านเป็นอย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมามีการสำรวจไปแล้วหลายสิบจังหวัด หลายสิบเมือง อันสามารถเป็นดัชนีที่บอกว่าขณะนี้สถานภาพความเป็นนวัตตกรรมอยู่ที่ไหน
นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนา Digital Innovation District Platform ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้มีที่กล้วยน้ำไทแถวคลองเตย กินพื้นที่แถบท่าเรือ มหาวิทยาลัย และพระราม 4 โดยมีการรวบรวมข้อมูลลงไปว่ามีการใช้พื้นที่อย่างไร และในอนาคตจะขยายไปให้ครบทุกย่านนวัตกรรม
สุดท้ายคือการมองอนาคตในระยะยาว ซึ่งทาง NIA พยายามใช้ระบบ Innovation Informatics ในการคาดการณ์ในอนาคต โดยมีการมองอนาคตในระดับเมือง ระดับจังหวัดประมาณ 5-6 เมืองแล้ว ทั้งของกท., พัทลุง, กาฬสินธุ์ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นฉากทัศน์ หรือ scenario ไปสู่การทำผังย่านต่อไป
ช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้น การที่ทาง NIA พัฒนาย่านนวัตกรรมขึ้นมา โดยเฉพาะย่านนวัตกรรมการแพทย์ที่ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ มีกระบวนการเร่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การแพทย์ทางไกล” โดยโรงพยาบาลประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ สามารถใช้นวัตกรรมและเครื่องมือดิจิทัลรวมถึงเครื่องมือที่สนับสนุนจากการทำงานช่วงโควิด จากผู้ประกอบการทั้งกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีได้อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิด-19 ระบาด ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อนวัตกรรมสังคม นวัตกรรมที่อยู่ในกลุ่มการท่องเที่ยว นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ต้องติดต่อสื่อสารกันทางกายภาพ และนวัตกรรมที่ทำร่วมกับหน่วยงานเทศบาลที่ต้องลงไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นลงไปดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนชรา เด็ก แต่ทาง NIA ก็พยายามปรับและพัฒนาทำกระบวนการให้สามารถให้บริการทางนวัตกรรมได้
นอกจากนั้นยังให้รางวัลนวัตกรที่อยู่ในภาครัฐที่ให้บริการทางสาธารณะโดยใช้กระบวนการทางนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมที่มาจากประเด็นเรื่องโควิด-19 หรือนวัตกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติทุกปี.