เอ็นไอเอจับมือทรูฯ ดันปุณณวิถีสู่ “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค”
เอ็นไอเอจับมือทรูฯ ดันปุณณวิถีสู่ “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” พื้นที่สร้างทาเลนท์ด้านดิจิทัล พร้อมร่วมฟิวเจอร์ เทลส์ แล็บ ขับเคลื่อน “อนาคตศาสตร์” รับมือโลกเปลี่ยน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมขับเคลื่อน “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” และการพัฒนาด้าน “อนาคตศาสตร์” ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจากทรู ดิจิทัล พาร์ค และศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ
โดยตั้งเป้าส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพในด้านดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ และส่งเสริมสู่พื้นที่แห่งการแจ้งเกิดผู้ที่มีความสามารถหรือ Talent ในด้านดิจิทัลและก้าวไปสู่การทำนวัตกรรมเชิงลึกในอนาคต นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ ที่จะร่วมกันศึกษาและวิจัยด้านการมองอนาคต และส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูล สารสนเทศและองค์ความรู้สู่สาธารณะ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การทำงานของศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา หรือฟิวเจอร์ เทลส์ แล็บ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อทำการรวบรวมข้อมูล-สถิติที่เคยเกิดขึ้นกับสังคม และแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น
รวมทั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ขณะนี้กำลังพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีร่วมกับ NIA ให้เป็นย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค เพื่อสร้างพื้นที่ให้แก่สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม การทำเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ เชื่อว่าจุดเด่นสำคัญที่ควรผสมผสานเข้าไปกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ “อัตลักษณ์” เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับบริบทความเป็นจริงของประเทศ รวมถึงเผยแพร่มุมมองความเป็นไทยให้ทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้
ด้าน พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” แห่งแรกของประเทศไทย ผลักดันเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ไลฟ์สไตล์ และบริบทการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมือง ตลอดจนผลักดันระบบนิเวศที่เอื้อต่อภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
การเกิดขึ้นของย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคในพื้นที่ปุณณวิถี นอกจากจะเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรม การลงทุน รวมถึงโอกาสที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ สถาบันเฉพาะทางด้านดิจิทัล และความเป็นอยู่และสังคมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น
"ทั้งนี้NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (District C-One-stop Service Center) ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องการจัดตั้งและขยายธุรกิจโดยการให้คำปรึกษาผ่านองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำ Deep Tech เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้แก่นวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่"
พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับการวางแผนพัฒนาย่านไซเบอร์เทค ได้วางปัจจัยส่งเสริมและพัฒนา 3 ด้าน คือ 1. แผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเร่งดำเนินเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาใช้พื้นที่ภายในย่าน
2. แผนพัฒนาด้านกายภาพ โดยส่งเสริมการปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายในย่าน พัฒนาพื้นที่ภายในเป็น Test Based Area สำหรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ในรัศมี 800 เมตรจากศูนย์กลางย่าน
และ 3. แผนพัฒนาด้านเครือข่าย ซึ่งจะเน้นทั้งการสร้างเครือข่ายระบบนิเวศสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพรายใหม่ภายในย่าน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) กับศูนย์วิจัยด้านอนาคตศึกษาของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (MQDC) หรือศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) ที่จะบูรณาการนำเครื่องมือด้านการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการออกแบบอนาคต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
รวมทั้งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการใช้ชีวิต โดยใช้นวัตกรรมและความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง คมนาคมขนส่ง การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ เพื่อนำไปสู่บริบทของความยั่งยืน อย่างไรก็ตามความร่วมมือนี้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายการพัฒนาสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
2. พัฒนาความร่วมมือในการศึกษาและวิจัยด้านการมองอนาคต และ 3. ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักถึงอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมเพื่อรับมือ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) เป็นศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนรายแรกที่ทำการวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ โดยมุ่งเน้นเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในอนาคต โดยใช้เครื่องมือการมองอนาคตเพื่อสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง คมนาคมขนส่ง และ บริบทของความยั่งยืน
ซึ่งในปี 2564 นี้ NIA และศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จะยังคงร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ในอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและวิถีชีวิต ที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของ “นวัตกรรม” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมในหมู่นักอนาคตศาสตร์และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ทรูฯตั้งเป้าที่จะผลักดันย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค ให้เป็นระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคสังคม สามารถให้ประโยชน์จากพื้นที่ปุณณวิถีที่ไม่ว่าจะเป็นในด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่
โดยสิ่งที่ทรู ดิจิทัล พาร์คกำลังผลักดันในขณะนี้มีทั้งการส่งเสริมเรื่องสมาร์ทวีซ่า (Smart Visa) เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ หรือ S-Curve ในส่วนของดิจิทัลให้เกิดขึ้นในรูปแบบของการกระจายตัว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีความสนใจ ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรเอกชนรายอื่น ๆ เพื่อให้การเติบโตทางดิจิทัลของไทยเป็นที่ยอมรับ และมีความยั่งยืนต่อไป
“ขณะนี้ทรู ดิจิทัล พาร์ค ถือเป็นพื้นที่ทางนวัตกรรมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในกรุงเทพฯ และในประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าหลังจากที่พัฒนาพื้นที่แห่งนี้มาได้ 3 ปี การส่งเสริมในมิติของทรูฯ และ NIA ได้เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานของบริษัทต่าง ๆ จำนวน 53 ราย และมีจำนวนพนักงานที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้กว่า 4,000 คน"
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการจ้างงานในด้านดิจิทัลของประเทศไทยจะมีมากขึ้น การสร้างมูลค่าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เติบโตตาม นอกจากนี้ ยังมีความสำเร็จอื่น ๆ ทั้งการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติจำนวน 8 ประเทศ มีสตาร์ทอัพกว่า 90 รายที่เข้ามาขอคำปรึกษา การเริ่มดำเนินธุรกิจ และเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน รวมทั้งมีการใช้พื้นที่เพื่อการจัดกิจกรรมทั้งอีเว้นท์ออนไลน์ การสัมมนา การอบรมให้ความรู้ด้านดิจิทัลซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้แล้วมากกว่า 1 ล้านคน