เปิดโผข่าวเด่น เทรนด์แรง ปี64 เมตาเวิร์ส -สตาร์ทอัพ-อีคอมเมิร์ซ เฟื่องฟู
ปี 2564 กำลังจะผ่านพ้นอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เป็นอีกหนึ่งปีที่มีแต่ความผันผวน การมาของ “โอมิครอน” กลายเป็นความกังวลใหม่ และ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่น่าหวั่นวิตกในปี 2565 ก่อนก้าวข้ามปี 2564 ไปสู่ปีใหม่ 2565 “กรุงเทพธุรกิจ” รวบตึงข่าวเด่นด้านดิจิทัลของประเทศไทยในปีนี้
ปี 2564 กำลังจะผ่านพ้นอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เป็นอีกหนึ่งปีที่มีแต่ความผันผวน ประเทศไทยยังไม่หายบอบช้ำจากวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กระทั่งจวบสิ้นปี การมาของ “โอมิครอน” กลายเป็นความกังวลใหม่ และ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่น่าหวั่นวิตกใน ปี 2565
หากท่ามกลางวิกฤติ กลับเกิดหลายโอกาสในกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ที่เปล่งประกายตอบโจทย์ความต้องการในวิถีแบบนิวนอร์มอล เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตของคนในปีนี้ล้วนมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ทั้งเรียนออนไลน์ เวิร์คฟรอมโฮม ไปจนถึงชอปปิงออนไลน์
ก่อนก้าวข้ามปี 2564 ไปสู่ปีใหม่ 2565 “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวข่าวเด่น ประเด็นร้อนด้านดิจิทัลของประเทศไทยปีนี้
‘3ยูนิคอร์น’ปลุกสตาร์ทอัพไทยร้อนแรง
กลุ่มธุรกิจที่กลายเป็นดาวเด่น ท่ามกลางความโชคร้ายของประเทศ คือ “สตาร์ทอัพไทย” ที่เป็นดาวดับมานาน ปี 2564 เพียงปีนี้ปีเดียวที่สร้าง“ยูนิคอร์น”หรือสตาร์ทอัพที่มีขนาดบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป ให้ประเทศไทยได้ปลื้มปริ่มถึง 3 ตัว ได้แก่ แฟลช กรุ๊ป, แอสเซนด์ มันนี่ และ บิทคับ
“3 ธุรกิจ” หลักของ 3 ยูนิคอร์น ทั้งธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ ธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ดัชนีชี้วัดว่า นี่ คือ โลกของธุรกิจแห่งโลกอนาคตอย่างแท้จริง
โควิดดัน 'อีคอมเมิร์ซ' ในไทยโตกระฉูด
จากรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ประเมินว่า ในปี 2564 คาดการณ์ มูลค่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในช่วงปลายปี เป็น 4.01 ล้านล้านบาท
โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ดันให้อีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดด ยอดซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก จำนวนผู้ประกอบการในออนไลน์เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ กิจกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัลเกิดมากมาย เช่น การดูคอนเทนท์ออนไลน์ อี-มีทติ้ง ส่งผลกระทบในเชิงบวกกับมูลค่าอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงเทศกาลดับเบิลเดย์ เช่น 9.9 11.11 12.12 ที่เป็นตัวดันยอดซื้อขายผ่านออนไลน์พุ่งกระฉูด
“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย กล่าวว่า พฤติกรรมนักช้อปคนไทยทุกวันนี้ไม่ว่าจะซื้อจากช่องทางไหน ออนไลน์ก็มีอิทธิภาพต่อกระบวนการตัดสินใจ อีคอมเมิร์ซกลายเป็นทางรอดของหลายๆ ธุรกิจ และเชื่อว่าตลาดนี้จะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้โควิดจะหมดไปแล้วก็ตาม ปี 2564 หากมองโดยภาพรวมๆ อีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตมากถึง 75%
‘แอพฟู้ดดิลิเวอรี่’ โตก้าวกระโดด
อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยธุรกิจ ฟู้ดดิลิเวอรี่ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตมากในปีนี้ มาตรการล็อกดาวน์ ตลอดจนการทำงานที่บ้าน และแพลตฟอร์มฟู้ด ดิลิเวอรี่ ช่วยอำนวยความสะดวกและมีร้านอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทั้งปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์, จำนวนร้านอาหาร และไรเดอร์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มในปีนี้ เติบโตแบบก้าวกระโดดทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลให้รายได้ของแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี่ ในระดับโลกและไทยต่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
คาดว่า มูลค่าตลาดฟู้ด ดิลิเวอรี่ของไทยปี 2564 จะเติบโต 62% จนมีมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท การแข่งขันในธุรกิจจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า เมื่อทุกแพลตฟอร์มเร่งผันไปตัวเองไปสู่การเป็น “ซูเปอร์แอพ” ครบวงจร ที่อาจมีบริการอื่นๆ นอกเหนือจากแค่การสั่งอาหาร
เฟซบุ๊คดัน “เมตาเวิร์ส” ในไทย
หลัง 'เฟซบุ๊ค'เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘เมตา’ (Meta) แต่ยังคงพันธกิจเมุ่งเน้นเชื่อมต่อผู้คนบนประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิมบนเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพื่อให้ผู้คนได้เชื่อมต่อถึงกัน ค้นพบชุมชนและสร้างธุรกิจ เฟซบุ๊ค เชื่อว่า ‘เมตาเวิร์ส’ จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งได้เริ่มเห็นตัวอย่างการนำเมตาเวิร์สมาใช้แล้วทั้งในวงการการศึกษา การทำงาน การแพทย์ สุขภาพ (fitness) กีฬา บันเทิงและเกม
บทบาทเฟซบุ๊คในการดันเมตาเวิร์สในไทย จะเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์โดยภาพรวมในการสร้างเมตาเวิร์ส ต้องเพิ่มการเข้าถึงฮาร์ดแวร์และพัฒนาปรับปรุงการเชื่อมต่อทั่วโลก เพื่อให้เกิดการใช้ได้อย่างแพร่หลาย ในไทย เมตา จะนำเสนอรายละเอียดการพัฒนา เครื่องมือ หรือหลักสูตรการให้ความรู้ต่างๆ เช่น Spark AR และเทรนด์ที่น่าตื่นเต้นนับจากนี้
ภัยไซเบอร์ คุกคามโลกทุก 11 วินาที
ผลสำรวจของการ์ทเนอร์ พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ จะเกิดขึ้นทุกๆ 11 วินาที และคาดว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยไซเบอร์ในอนาคตอันใกล้นี้จะสูงถึง 300 ล้านล้านบาท เมื่อองค์กรธุรกิจถูกโจมตีจะเกิดความเสียหายมหาศาลตามมา ทั้งการเงินและชื่อเสียง
ที่ผ่านมา อาชญากรไซเบอร์พุ่งเป้าไปที่ทุกช่องทางตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญระดับชาติ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดอ่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ มัลแวร์ และรูปแบบอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กลายเป็นรูปแบบของการโจมตีที่แพร่หลายและสร้างความเสียหายมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยมีเป้าไปที่องค์กรหลักและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อย่างในประเทศไทยเองที่ได้รับผลกระทบมีอยู่ไม่น้อย จากข่าวข้อมูลรั่วไหลของโรงพยาบาล หน่วยงานรัฐ รวมถึงองค์กรเอกชนที่ไม่เปิดเผยชื่อก็มี
“กูเกิล ประเทศไทย” ร่วมกับ “บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด” เผยผลการวิจัยพฤติกรรมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในประเทศไทย โดยระบุว่า ความเสี่ยง 3 อันดับแรกที่ก่อให้เกิดความกังวลในระดับสูงและความยากลำบากในการจัดการได้แก่ การแฮกบัญชี ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และการฉ้อโกงออนไลน์
‘โทรคมนาคมไทย’ สุดร้อนแรง
ฟากโทรคมนาคมในปี 2564 มีหลายประเด็นฮอต โดยเฉพาะช่วงส่งท้ายปี ‘3 เรื่องใหญ่’ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อในปี 2565
ไทยคมสิ้นสุดสัมปทาน30ปี
“กิจการดาวเทียม” หลังจากที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ครองสัญญาสัมปทานมานาน 30 ปี สิ้นสุดสัมปทานลงในวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา และต้องส่งมอบให้รัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รับมอบสินทรัพย์รวมทั้งวงโคจรดาวเทียมไปบริหารงานต่อ สิ้นสุดยุคการผูกขาดกิจการดาวเทียมด้วยเอกชนเพียงรายเดียว
รอเพียงคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่เข้ามาเปิดประมูลอุตสาหกรรมอวกาศให้เปิดเสรี
ประเด็นการรับไม้ต่อบริหารกิจการดาวเทียมนั้น ดีอีเอส มอบอำนาจบริหารให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที โดยน.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นที ระบุว่า หลังรับมอบดาวเทียมดวงที่ 4 และ 6 จากไทยคม เอ็นทีวางแผนบริหารจัดการดาวเทียมต่อจากไทยคม ได้ดำเนินการให้ฝ่ายขายติดต่อลูกค้าเก่าในประเทศ รวมถึงต่างประเทศเท่าที่จะทำได้ ทันที ควบคู่กับการมองหาลูกค้าใหม่โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐด้วย รวมถึการนำดาวเทียมมาบริหารจัดการในเชิงประโยชน์สาธารณะด้วย
อภิดีลฯควบรวมทรู-ดีแทค
22 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
การปรับโครงสร้างครั้งนี้ ปลายทาง คือ สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย รวมถึงแผนศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology)
บริษัทใหม่ตั้งขึ้นจะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านดอลลาร์ ความชัดเจนดีลนี้จะได้เห็นในปี 2565 ช่วงเดือนมี.ค.เป็นต้นไป
วุฒิฯคลอด5อรหันต์กสทช.ใหม่
ปิดท้ายด้วยข่าวเขย่าวงการโทรคมส่งท้ายปีเมื่อล่าสุด วันที่ 20 ธ.ค.ที่่ผ่านมา ประชุมวุฒิสภายาวนาน 6 ชั่วโมงลงคะแนนลับให้ความเห็นชอบกับบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. และรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่เสนอชื่อให้เป็นกรรมการ กสทช. มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธานกรรมาธิการ
บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช.ที่เสนอมายังวุฒิสภาให้ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ มีทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ 1.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 2.ดร.พิรงรอง รามสูต 3.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ 4.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ 5.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 6.นายธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ และ 7.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
แต่ นายกิตติศักดิ์ และนายธนกฤษฏ์ถูกตีตกไปทำให้ วุฒิสภาผ่านรายชื่อกสทช.ชุดใหม่ 5 คน ทั้งนี้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอชื่อด้านคุ้มครองผู้บริโภค เป็นที่คาดหมายว่าจะถูกวางตัวในตำแหน่งประธานบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ ดังนั้น ต้องรอดูว่าวุฒิสภาจะเดินหน้าสรรหาอีก 2 ตำแหน่งที่ว่างเมื่อไร