ครบ 1 ปี เอ็นที บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เสือตัวใหม่ หรือแค่ เสือนอนกิน
การผนึก 2 องค์กรอย่าง ทีโอที และ กสทฯ เข้าด้วยกันเป็น เอ็นที ไม่ใช่เรื่องง่าย วัฒนธรรมของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน แม้จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ใกล้กันใช้รั้วเดียวกันด้วยซ้ำ
ก่อนจะถึงอภีดีล ทรู-ดีแทค เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ทำเอาสะเทือนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่หากใครจำได้เมื่อต้นปี 2564 การควบรบมที่แสนยาวนานตลอด 10 ปีของรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมก็เข้ารูปเข้ารอย เมื่อ ครม.มีมติอย่างเป็นทางการให้ควบรวม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผนึกเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 มาสู่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที
ความตั้งใจของการควบรวมเพื่อมุ่งหวังให้เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในสมรภูมิโทรคมฯไทย ด้วยการมีทรัพย์สินมากกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ไฟเบอร์ออฟติก ไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (ซับ มารีน) พูดได้ว่าเอกชนทั้ง 3 รายยังไม่สามารถเทียบเท่า
ผ่านมา 1 ปีมีอะไรเปลี่ยน?
การผนึก 2 องค์กรอย่างทีโอทีและกสทฯเข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่ายและวัฒนธรรมของแต่องค์กรก็มีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใช้รั้วเดียว ด้วยซ้ำ อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานภายใต้ชื่อ "เอ็นที" แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากโลโก้และชื่อสีขององค์กรที่เปลี่ยนจากฟ้าและส้มมาเป็นสีเหลือง
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นทียอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า ตลอดระยะเวลาของการควบรวมสิ่งที่หนักใจที่สุดคือพนักงานที่มาจากคนละหน่วยงานแต่เนื้องานมีความทับซ้อนกันทุกอย่าง แต่เมื่อได้ควบรวมกันแล้วพบว่าเขาสามารถทำงานร่วมกันได้และรู้สึกพอใจกับแผนการควบรวม
เมื่อมีการปรับแผนการควบรวมจากที่บริษัทที่ปรึกษาวางแผนไว้ให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรตรงนี้คาดว่าการปรับโครงสร้างองค์กรจะนิ่งภายในกลางปี 2565 ส่วนจำนวนพนักงานปัจจุบันมี 17,000 คน ปี 2564 มีพนักงานเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนดประมาณ 1,000 คน หากจะให้วิเคราะห์ถึงจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับองค์กรนั้น ตนมีความเห็นว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน
"ทุกอย่างยังไม่เข้าที่ แต่ผมเชื่อว่ากลางปีนี้ทุกอย่างจะโอเค ยอมรับว่าเราใช้เวลา 1 ปีในการตั้งต้นเอ็นที ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยคืบหน้า เพราะมันมีสิ่งที่เหนือการควบคุมหลายอย่าง"
เขา เสริมว่า รายละเอียดของงานบางธุรกิจเช่น ดาวเทียม เรารับมอบมาจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่สิ้นสุดสัมปทานลงไป โดยตอนนี้ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์ ) และไทยคม 6 อยู่ในการดูแลของเอ็นที แต่สิทธิและความเป็นเจ้าของอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดังนั้น หลายอย่างที่เราตั้งใจจะดำเนินการมันเลยยังไม่คืบหน้า
พร้อมปั้นธุรกิจมือถือ-ดาวเทียม
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในขาของการให้บริการเอ็นทีก็จะต้องหาหนทางสร้างรายได้และกำไรจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งธุรกิจโมบายและดาวเทียม โดยธุรกิจโมบายบนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน 2 รายคือ เอไอเอส และ ทรูฯ เพื่อขอให้มาร่วมทำตลาด 5จีด้วยกัน ผ่านความร่วมมือในโมเดลธุรกิจที่ทำได้ เช่น ขายส่งคลื่นความถี่ ตั้งบริษัทลูกให้เอกชนช่วยทำตลาด และจ่ายส่วนแบ่งกลับมา หรือแม้ตั้งบริษัทมาควบรวมกิจการกัน ซึ่งทุกอย่างคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนนี้
ส่วนธุรกิจก็ยังบริการที่ต่อเนื่องมาจากลูกค้าของไทยคม แผนงานของเอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งดาวเทียมสื่อสารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การให้บริการดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการดาวเทียมของไทย
เขา กล่าวว่า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดีอีเอสเอ็นทีกำหนดเป้าหมายใน 3 มิติ เป้าหมายแรกคือ การทำให้ทุกภาคส่วน ทุกภาคธุรกิจ รวมถึงภาคสังคมจุดสำคัญที่สุด สามารถปรับตัวก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความพร้อมทางทรัพยากร ด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลที่เรามีอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ จะสามารถผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ Next Normal ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายต่อไปคือ สร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริการคลื่นความถี่ 5จี และบริการด้านดิจิทัลทุกรูปแบบ
สุดท้ายแผนงานของเอ็นทีที่วางเป้าไว้สวยหรูว่าจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ค่ายมือถือเอกชนจะทำได้ตามที่หวัง ปีนี้เราคงได้เห็นเค้าลางที่ชัดขึ้น แต่เอ็นทียังมีสารพัดปัญหารุมเร้าเพราะแม้แต่ตัว "บอร์ด" บริหารก็ยังสรรหามาไม่ครบองค์ประชุม จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีมติการปฎิบัติงาน หรือแผนธุรกิจใดๆอย่างเป็นทางการออกมา หรือแม้แต่ "ซีอีโอ" ตัวจริงที่จะเป็นหัวเรือใหญ่ก็ยังเพิ่งเปิดรับสมัครผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง ยังต้องใช้เวลาสรรหาอีกนานกว่าจะได้ข้อสรุป เรื่องนี้ "รัฐบาล" ไม่ควรปล่อยผ่านหรือเตะถ่วง แม้แต่ดีอีเอสเองควรลงมากำกับดูแลหรือจี้งานให้ได้สักที
เพราะสุดท้ายแล้ว "เสือ" ที่หวังให้รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมหลังเกิดการควบรวมกลับมาคำรามให้ดังกึกก้องได้อีกครั้ง อาจกลายสภาพเป็นเสือนอนกิน ภายใต้สัมปทานจำแลงในรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ก็ยังต้องพึ่งพิงเอกชนอยู่เช่นเดิม เหมือนสัญญาสัมปทานเมื่อ 30 ปีก่อน