‘เอบีม’ เปิด 3 ปัจจัยสร้างความสำเร็จ ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’ องค์กร
เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เผยถึง 3 ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นภายในองค์กรธุรกิจ
อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยประการแรก สร้างองค์กรและฟังก์ชันงานที่สร้างคุณค่าโดยใช้ “Deep Digital” โดย Deep Digital หมายถึง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรโดยไม่ได้มองแค่เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เท่านั้น
แต่ยังต้องพิจารณาในมุมมองแบบองค์รวมว่าธุรกิจของคุณนั้นมีกระบวนการทำงานอย่างไร โดยพิจารณาจากองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น วัฒนธรรม ทรัพยากรบุคคล องค์กร และแม้แต่โมเดลธุรกิจไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที
ฉีกกฏเดิม มุ่งอนาคต
สำหรับปัจจัยที่สอง ปรับการจัดการที่มุ่งเน้นในอนาคต ความมุ่งมั่นสำหรับการลงทุนในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอาจเป็นอุปสรรคสำหรับหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสำเร็จนั้นอาจไม่แน่นอน เบื้องต้นจึงต้องมองถึงความสำเร็จที่สามารถเห็นผลในเวลาอันสั้น
เขากล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอน สิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันด้วยวิธีเดิมๆ นั้น อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ผู้ประกอบการธุรกิจจึงจำเป็นต้องมองโลกในมุมด้านดิจิทัล เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
โดยสามารถกลายเป็นการเติบโตแบบทวีคูณเมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนน้อยลง ซึ่งเรียกว่าการเติบโตแบบ “Linear growth” ขณะที่รูปแบบการเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือ “Exponential growth” นั้นจะเน้นที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด การใช้เทคนิคการพยากรณ์แบบมองย้อนกลับมา(Backcasting) และการวัดผลด้วยมาตราส่วนคะแนน
ปรับบทบาท ‘ผู้บริหาร’
ขณะที่ ปัจจัยสุดท้าย อัปเดตบทบาทผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง ถึงแม้ว่าบริษัทต่างๆ จะชอบเผชิญกับความท้าทายและดูเหมือนจะสามารถยอมรับกับความล้มเหลวได้บ่อยครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วองค์กรเหล่านั้นแทบจะไม่สามารถยอมรับความล้มเหลวได้
จากการสำรวจผู้นำธุรกิจกว่า 1,000 คนจากบริษัทที่ทำยอดขายได้กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีหรือมากกว่า พบว่า 3 ใน 5 ของผู้ทำแบบสำรวจ หรือ 59.7% อยู่ในกลุ่มที่มีความล้มเหลวเกิดขึ้น และมีเพียง 1 ใน 4 หรือ 24.3% เท่านั้นที่เชื่อว่าความท้าทายและการเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน
ทั้งนี้ วัฒนธรรมที่แตกต่างสามารถเห็นได้ชัดในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จและกลุ่มผู้ที่มีความอดทนต่อความล้มเหลวและข้อผิดพลาด โดยกว่า 2 ใน 3 ของผู้ทำแบบสอบถาม 68.2% กล่าวว่า ในทุกส่วนขององค์กรตั้งแต่การจัดการไปจนถึงการจัดอันดับและการจัดเก็บข้อมูล ความท้าทายและการเรียนรู้จากความล้มเหลวควรได้รับการสนับสนุน
โดยมีเพียง 1 ใน 4 หรือ 28.2% ที่เชื่อว่าความปรารถนาที่จะเผชิญกับความท้าทายและยอมรับความล้มเหลวนั้นไม่สำคัญ ซึ่งหมายความว่าบริษัทจำเป็นต้องคิดทบทวนด้านวัฒนธรรมของบริษัทใหม่เพื่อให้คนยอมรับความท้าทายได้มากขึ้น
'ผู้นำองค์กร' ต้องแกร่ง
อิชิโรมีมุมมองว่า วิธีการที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จมีหลายวิธีและจะต้องใช้ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่มุ่งเน้นด้านอนาคต เพื่อพิจารณาเป้าหมายในระยะยาวและความต้องการด้านการลงทุน สามารถคิดไตร่ตรองและระบุขอบเขตความรู้ด้านดิจิทัลของตนเองที่ต้องปรับปรุงได้
ส่วนผู้บริหารระดับกลาง จำเป็นต้องวางแผนงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยให้ทีมเข้าใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมจะสามารถร่วมเดินตามแผนงานได้ ซึ่งต้องดำเนินการอบรมฝึกสอนแบบตัวต่อตัวอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่ การสื่อสารนั้นจะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ เช่นเดียวกับการให้ผู้คนมีอิสระในตัวเอง และการมอบหมายให้ผู้ที่มีความสามารถสูงทำงานที่ท้าทายก็จะสามารถได้รับผลตอบแทนที่ดี
“การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสามารถช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็นำประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมาสู่การดำเนินงาน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เหมาะสมจะสามารถมอบมูลค่าที่เหมาะสมให้กับธุรกิจได้”