Tencent เปิดตัว Hunyuan T1 เอไอคิดเชิงเหตุผล ต้นทุนต่ำ แข่งเดือดตลาดจีน

Tencent เปิดตัว Hunyuan T1 เอไอคิดเชิงเหตุผล ต้นทุนต่ำ แข่งเดือดตลาดจีน

ยักษ์ใหญ่เกมจีนอย่างเทนเซ็นต์ (Tencent) เปิดให้ลองใช้ ‘Hunyuan T1’ โมเดลเอไอเชิงเหตุผล ประมวลผลเร็ว เข้าใจเนื้อหายาว ทำคะแนนด้านวิเคราะห์สูงกว่า DeepSeek และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด ดันให้เป็นธุรกิจหลักใหม่สร้างรายได้

เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เพิ่งเปิดตัวระบบ “Hunyuan T1” โมเดลเอไอที่ถูกออกแบบมาให้คิดเป็นเหตุเป็นผล ตอบสนองได้รวดเร็ว และสามารถเข้าใจเนื้อหายาวๆ โดยเปิดให้นักพัฒนาใช้งานแล้วผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Huggingface และ GitHub รวมถึงผู้ใช้ทั่วไปก็สามารถลองใช้งานผ่านแชตบอต Hunyuan ได้เช่นกัน

จากรายงานที่เผยแพร่ผ่านบัญชี WeChat ทางการของบริษัท ระบุว่า T1 ได้รับการออกแบบมาให้สามารถเรียบเรียงข้อความออกมาให้เข้าใจง่าย คำตอบที่ได้มีความสมเหตุสมผล และช่วยลดโอกาสที่เอไอจะสร้างข้อมูลผิดๆ ขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่เอไอหลายตัวมักจะเผชิญ

ก่อนหน้านี้ เทนเซ็นต์ได้ปล่อยเวอร์ชันทดลองของ T1 ให้ผู้ใช้ได้ทดสอบผ่านหลายแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแอปพลิเคชันผู้ช่วยเอไอชื่อ Yuanbao ของบริษัท ส่วนเวอร์ชันเต็มที่เพิ่งเปิดตัวนี้จะทำงานบนระบบพื้นฐานชื่อ Turbo S ซึ่งเทนเซ็นต์ได้เปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัทอ้างว่าระบบนี้สามารถทำงานได้เร็วกว่าระบบ R1 ของคู่แข่งอย่าง DeepSeek 

ในด้านประสิทธิภาพ เทนเซ็นต์นำเสนอแผนภาพเปรียบเทียบระหว่าง T1 กับ DeepSeek R1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบของเทนเซ็นต์สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าในการทดสอบบางประเภท โดยเฉพาะด้านความรู้และการคิดวิเคราะห์ 

จากผลการทดสอบพบว่า T1 ทำคะแนนวัดความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ได้สูงถึง 87.2 คะแนน ซึ่งเหนือกว่า R1 ของ DeepSeek ที่ทำได้เพียง 84 คะแนน แม้ว่าจะยังคงเป็นรองโมเดล o1 ของ OpenAI อยู่บ้างก็ตาม อย่างไรก็ดี ในการทดสอบด้านอื่นๆ T1 กับ R1 ก็ทำคะแนนได้ใกล้เคียงกันมาก จนแทบจะแยกไม่ออกว่าตัวไหนเหนือกว่ากัน

เทนเซ็นต์ได้กำหนดราคาค่าบริการไว้ที่ 1 หยวนต่อการป้อนข้อความเข้าไป 1 ล้านตัวอักษร และ 4 หยวนต่อข้อความที่เอไอตอบกลับ 1 ล้านตัวอักษร ซึ่งถูกกว่า DeepSeek R1 ที่คิดราคาแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา โดยในช่วงกลางวันจะคิดค่าอินพุต 1 หยวน และค่าเอาต์พุตสูงถึง 16 หยวน ส่วนในช่วงกลางคืนจะลดลงเหลือ 0.25 หยวน และ 4 หยวนตามลำดับ

เทนเซนต์กับแผนบุกตลาดเอไอ

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เทนเซ็นต์ได้เพิ่มการลงทุนด้านเอไออย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 บริษัทได้ประกาศแผนการเพิ่มงบประมาณลงทุนในปี 2568 ซึ่งต่อเนื่องมาจากการที่ได้ทุ่มเงินไปกับเอไออย่างมหาศาลตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา

ทางบริษัทนำเสนอว่า T1 สามารถใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์น้อยลงอย่างมาก แต่ยังคงความสามารถในการจับประเด็นจากข้อความยาวๆ ได้อย่างแม่นยำ และยังทำงานได้เร็วขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า

นอกจากการนำเสนอของบริษัทเอง ยังมีบล็อกเกอร์ด้านเทคโนโลยีอย่าง NCJRYDS ซึ่งเคยทำงานอยู่กับเว็บช็อปปิ้งยักษ์ใหญ่ JD.com ได้ทดลองนำ T1 ไปเปรียบเทียบกับ R1 โดยให้เอไอชื่อดังตัวอื่นๆ อย่าง Claude ของ Anthropic และ ChatGPT ของ OpenAI มาร่วมให้คะแนนด้วย

โดยผลการทดสอบพบว่า T1 ทำได้ไม่ดีเท่า R1 ในด้านการแต่งบทกวีจีนโบราณ แต่กลับแสดงความสามารถเหนือกว่าในการอธิบายความหมายของคำศัพท์ภาษาจีนในบริบทที่หลากหลาย

ในขณะเดียวกัน บล็อกเกอร์จาก GoPlayAI ก็ได้ทดสอบโมเดล T1 ด้วยโจทย์คณิตศาสตร์ทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งผลปรากฏว่า T1 สามารถแก้โจทย์ได้เกือบทั้งหมด มีเพียงข้อเดียวที่ยากที่สุดที่ใช้เวลานานถึง 5 นาทีในการคิดวิเคราะห์ และสุดท้ายก็ยังตอบผิดอยู่ดี

เทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังแอปโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง WeChat และยังครองตำแหน่งธุรกิจเกมที่มีรายได้สูงสุดในโลก กำลังมุ่งหมายให้เทคโนโลยีเอไอกลายเป็นธุรกิจหลักใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต 

ทั้งนี้ บริษัทได้นำเอาระบบ DeepSeek-R1 มาผสานเข้ากับแพลตฟอร์มคลาวด์และแชตบอต Yuanbao ของตน เพื่อเสนอเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากระบบ Hunyuan ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง

โพนี่ หม่า ซีอีโอของเทนเซ็นต์ กล่าวว่า เขามีความชื่นชม DeepSeek เป็นอย่างมากที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์อิสระที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี โดยเขายังได้เปิดเผยอีกว่า เทนเซ็นต์ได้นำกลยุทธ์แบบ “สองทาง” มาใช้กับการพัฒนาเอไอ นั่นคือ การพัฒนาโมเดลของตัวเองควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่คล้ายคลึงกับที่เทนเซ็นต์ประสบความสำเร็จในวงการเกม ที่ให้การสนับสนุนทั้งเกมที่พัฒนาขึ้นเองและเกมที่มาจากสตูดิโออิสระอื่นๆ

อ้างอิง: Reuters และ South China Morning Post