CIRCO Hub Thailand เปลี่ยนธุรกิจดั้งเดิมสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน
สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ เปิดเวที CIRCO Hub Thailand ชวน Rethink Together ผนึกกำลังภาคธุรกิจ ภาครัฐ เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้องค์ความรู้ของหลักสูตร CIRCO เนเธอร์แลนด์
โครงการ CIRCO Hub Thailand โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) จัด “Rethink Together: Co-Creating Circular Economy with Circular Design”
สัมมนาข้ามเส้นทางธุรกิจ ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงานและแถลงภาพวิสัยทัศน์ Circular Economy ประเทศไทยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ในประเทศไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ในส่วนของภาครัฐ รัฐบาลได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง และมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะด้านนโยบายแต่มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย
ประกอบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมามีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในภาคีทำงานร่วมกับนานาชาติ และเราได้ประกาศเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065
เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ ผ่านกลไกหลายอย่างรวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ภาครัฐเองก็พยายามที่จะปรับปรุงรูปแบบการทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในลักษณะ Close Loop เชื่อมต่อให้ทุกภาคส่วนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ Circular Design หรือการออกแบบหมุนเวียนก็เป็นส่วนสำคัญ เป็นกระบวนการที่เข้ามาสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน ในส่วนของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะมีหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) เข้ามา หรือทำให้วัสดุเหลือใช้เข้าสู่วงจรการผลิตได้
นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำให้เกิดมาตรการจูงใจสนับสนุนให้เกิดตลาดสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย
ในส่วนของ สอวช. ก็ได้ทำ Policy Forum ร่วมกับเครือข่าย Thai-SCP ที่ท้ายที่สุดจะได้ข้อมูลต่าง ๆ มาทำเป็นสมุดปกขาว CE Innovation Ecosystem 2030 เพื่อให้เห็นเป็นภาพรวมการทำงานในด้านนี้ที่จะมีระบบเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร
ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวว่าการจัดอบรมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดสำคัญในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียน ที่ สอวช. ผลักดันร่วมกับ GCNT มี CIRCO Hub Thailand เป็นกึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยสถานประกอบการภาคเอกชนในไทย ให้สามารถมีแนวทางและมีกระบวนการในการออกแบบหมุนเวียนสำหรับธุรกิจของตนเอง
โครงการนี้ได้ดำเนินการมาถึงครึ่งทางแล้ว และมีภาคเอกชนหลายบริษัทที่เคยเข้าร่วมโครงการได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจซึ่งกันและกันในครั้งนี้ด้วย โดยหวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอีกครั้ง และทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจต่อไป
นางสาวธันยพร กริชทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคที่โลกกำลังดำเนินเข้าสู่วิถีใหม่ เส้นทางของเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในวันนี้ ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจ อยู่รอด เติบโต ท่ามกลางความผันผวนเปลี่นแปลง และทำให้ธุรกิจยังตอบโจทย์ผู้คนในสังคมได้
CIRCO Hub Thailand อยากเห็นธุรกิจไทย 'ก้าวนำความเปลี่ยนแปลง' ด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ เราจึงมุ่งมั่นส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยด้วยนวัตกรรมทางความคิดแบบ Circular Design ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีสายตาแบบนวัตกร มองเห็นโอกาสในสิ่งธรรมดา สามารถเปลี่ยนตัวเงินและทรัพยากรที่เคยสูญเสียไป ให้กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
โดยใช้องค์ความรู้ของหลักสูตร CIRCO จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในประเทศเนเธอร์แลนด์ และในอีก 11 ประเทศทั่วโลกสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลเป็น Circular Business ได้จริง
ด้าน ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี โมเดล สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการออกแบบนโยบายของประเทศไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วย Key Projects/Focus Sectors และนำแบบอย่างความสำเร็จไปขยายผลในกลุ่มอื่น ๆ, ต้องมีการพัฒนา CE Solution Platforms สร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงความรู้สู่เป้าหมาย,
มีการปรับแก้กฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรค, สร้างบุคลากร และสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต ด้วยประบวนการสร้างความรู้และความเข้าใจ, สร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการพัฒนากลไกตลาดที่เหมาะสม มีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ร่วมกับพันธมิตร ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคลทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
ในส่วนของภาคเอกชน ได้มีเวทีเปิดมุมมอง สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย Circular Design เป็นการแลกเปลี่ยนและรับฟังประสบการณ์การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการและนักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการ CIRCO ในรุ่นที่ 1-4 โดยภาคธุรกิจได้แบ่งปันการนำแนวทางไปใช้ทั้งการ Rethink, Reuse, Reduce, Renew และ Recycle
ในภาพรวมมองว่าการเข้าร่วมโครงการทำให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงกระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต
ที่นอกจากจะตอบโจทย์แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังช่วยดึงดูดผู้บริโภคและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจด้วย สิ่งสำคัญคือการเข้าร่วมโครงการทำให้ภาคธุรกิจมีเครือข่ายบริษัทที่สามารถทำงานร่วมกันต่อได้ ทำให้เห็นภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ฝั่งของภาครัฐมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมพูดคุยถึงประเด็นการออกแบบและกำหนดมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในส่วนของ สอวช. นอกจากกลไกมาตรการในการสนับสนุนให้เกิดโครงการ CIRCO แล้ว จากภารกิจของหน่วยงานที่ทำเรื่องนโยบาย จึงต้องมีการศึกษาเชิงระบบ โดยเฉพาะแนวทางการสร้างระบบนิเวศในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการศึกษาดูภาพรวมการสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์
ทั้งยังมองไปถึงกลไกการสนับสนุนการลงทุน สนับสนุนผู้ประกอบการ ผลักดันให้มีการให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเห็นแนวทางเดินต่อในการประกอบธุรกิจ
อีกส่วนที่ต้องการขับเคลื่อนคือการทำ Circular Economy Hub เพื่อเป็นหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ที่จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษา คอยให้บริการ ช่วยผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็น Business Development Service ไปในตัวด้วย
ในส่วนของมาตรการส่งเสริมของภาครัฐจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสำคัญในการดึงดูดความสนใจเพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศไทยได้
ด้านสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายสำคัญคือการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ในโครงการ Packback รวมถึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR ในประเทศ
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีกลไกที่สำคัญคือการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถนำงานวิจัยที่สำเร็จแล้วออกไปใช้ประโยชน์ได้
ในฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมาตรการสนับสนุนการลงทุน ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ 3-8 ปี และธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ ยังสามารถขอส่งเสริมการลงทุนได้อีกด้วย
การร่วมเสวนา “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” และแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้ นับเป็นกุญแจสู่ทรัพยากรทางความรู้และโอกาสสำหรับทุกภาคส่วนในการเริ่มต้นทำความเข้าใจบริบทของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่เพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ ร่วมรับฟังเสียงที่หลากหลาย จากตัวแทนธุรกิจ ทั้งเล็กและใหญ่ ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ตรง จากการเรียนรู้และเริ่มต้นลงมือทำ
ซึ่งจะเป็นทั้ง แรงบันดาลใจและกรณีศึกษาที่จะช่วย ผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผู้ที่สนใจ สื่อมวลชน และตัวแทนจากภาคธุรกิจอื่นๆ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิม ไปสู่ธุรกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการ ระหว่างองค์กรให้เกิดความร่วมมือ และ โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy ที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนได้ตามเป้าหมาย.