กระทรวง อว.ส่ง "220 นวัตกรรม” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

กระทรวง อว.ส่ง "220 นวัตกรรม” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

กระทรวง อว. เชื่อมเครือข่ายสถาบันการศึกษาขับเคลื่อนนวัตกรรมลดเหลื่อมล้ำสังคม ส่ง “220 นวัตกรรม” ช่วยประชาชน 44 จังหวัด ยกคุณภาพชีวิตได้กว่า 1.1 แสนคน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เคลื่อนทัพนวัตกรรมเพื่อสังคมร่วมกับเครือข่ายและหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม 10 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรด้านสังคมผ่านการบ่มเพาะและให้คำปรึกษาภายใต้ระบบพี่เลี้ยง 

เพื่อผลักดันแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องเป็นผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่เป้าหมาย และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมไปแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

จากการดำเนินงานของ NIA สามารถสร้างนวัตกรทางสังคมจากกิจกรรมสร้างระบบนิเวศ จำนวน 1,389 คน และพัฒนาผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในพื้นที่ จำนวน 220 ผลงาน ครอบคลุม 44 จังหวัด และมีผู้ได้รับประโยชน์จากผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม 117,410 คน และสามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมเชิงพื้นที่ ได้กว่า 3.25 เท่า

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายและยุทธศาสตร์หลักของกระทรวง อว. คือ การขับเคลื่อนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ที่มุ่งเน้นสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้กลายเป็นชุมชนนวัตกรรมและมีนวัตกรในชุมชน 

การใช้นวัตกรรมเพื่อสังคมเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชน ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร วิสาหกิจเริ่มต้น และวิสาหกิจชุมชน การแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกมิติ

ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงการกระจายความเจริญสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนความสามารถของคนในพื้นที่ 

กระทรวง อว.ส่ง \"220 นวัตกรรม” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ NIA ดำเนินการบริหารและจัดการทุนในการสร้างและใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 
 

ภายใต้ “โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการ flagship สำคัญ โดยมีตัวชี้วัดหนึ่งคือ การนำผลงานนวัตกรรมด้านสังคมไปใช้งานในชุมชนหรือพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน ท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพ การพึ่งตนเองและ การจัดการตนเองบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA  กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนในเกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว NIA ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านรายได้ สุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

จึงได้จัดตั้ง “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2562 โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งกระจายตัวตามกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อบรมบ่มเพาะเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการทางสังคม จนสามารถพัฒนา “ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม” ที่ตอบโจทย์ปัญหาและตรงตามความต้องการของสังคมหรือชุมชน และนำไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน 

ทั้งนี้ สามารถสร้างนวัตกรทางสังคมจากกิจกรรมสร้างระบบนิเวศ จำนวน 1,389 คน และพัฒนาผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในพื้นที่ จำนวน 220 ผลงาน ครอบคลุม 44 จังหวัด และมีผู้ได้รับประโยชน์จากผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม 117,410 คน ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมเชิงพื้นที่ หรือ Social Return on Investment, SROI เท่ากับ 3.25 เท่า

กระทรวง อว.ส่ง \"220 นวัตกรรม” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เช่น “หนังสือเงียบจากผ้าทอ: Bloom Quiet Book” จากชมรมบูรณาการคนพิการอย่างยั่งยืน จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคเหนือตอนล่าง 

โดยเป็นหนังสือที่ทำจากผ้า ด้านในประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการเล่น มีการออกแบบที่เน้นการเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ผ่านเทคโนโลยี AR ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ที่สมจริงมากขึ้น ทำให้ชมรมซื้อผ้าทอมือจากกลุ่มทอผ้าบ้านน้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 12% เกิดการจ้างงานผู้พิการ ผู้ดูแลผู้พิการ ผู้ว่างงานจากวิกฤตโควิดมากกว่า 160 คน และมีรายได้เพิ่มมากกว่า 5,000 บาท/เดือน 

“รถพุ่มพวงผักปลอดสารพิษ” จากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เช่น การสั่งจองล่วงหน้าทางออนไลน์ ระบบสมาชิก ตารางการเดินรถ ระบบการจัดการสินค้า และการรวบรวมสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมาจำหน่าย มีเกษตรกรและร้านค้าได้รับประโยชน์จำนวน 30 ราย ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ 

กระทรวง อว.ส่ง \"220 นวัตกรรม” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“ชุดวาดเขียนสำหรับเด็กตาบอด: เล่นเส้น” จากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคกลาง ที่ใช้เส้นไหมพรมในการสร้างเส้นนูนที่เด็กสามารถสัมผัสได้ทันทีที่วาด ซึ่งได้ดำเนินการในโรงเรียนสอนคนตาบอด

 สำหรับในปี 2565 นี้ NIA ยังเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่ จำนวน 10 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำกลุ่มจังหวัด 8 หน่วย (มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร) 

รวมทั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ 2 หน่วย (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์) เพื่อร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ วิเคราะห์มิติปัญหาสังคมในพื้นที่โดยอาศัยประโยชน์จากภาพอนาคตของพื้นที่ สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรม และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป.