“อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” สังเวียนธุรกิจสื่อสารที่ต้องเรียนรู้ปรับตัว
วิเคราะห์ “อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” (New Telco Market) ค่า HHI ที่ชี้ถึงการแข่งขันกับผู้เล่นใหม่ระดับโลก นวัตกรรมใหม่ การแข่งขันรายได้รูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ที่จะไม่มีวันเหมือนเดิม
ในโลกปัจจุบันที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) รูปแบบของการสื่อสารกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงโดยที่ผู้บริโภคอาจจะแทบไม่รู้ตัว เพราะหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แปรเป็นความเคยชินต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้โลกหมุนเร็วมากกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงโลกของการสื่อสารอย่าง “อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” (New Telco Market)
การเติบโตของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย IP ความเร็วสูง และแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส (open-source platforms) ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ OTT หรือ Over-the-Top ซึ่งเป็นการให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์บนโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ต เติบโตในไทยแบบก้าวกระโดด อุตสาหกรรมการสื่อสารที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการดิจิทัลจากหลากหลายประเทศ ผู้ให้บริการเสียงผ่านแอปพลิเคชัน ให้บริการส่งข้อความผ่านแอป ไม่ว่าจะเป็น LINE, WECHAT, FACEBOOK ให้บริการประชุมผ่านแอป และให้บริการคอนเทนต์ผ่านมือถือ เช่น NETFLIX, DISNEYPLUS, VIU เป็นต้น ปรากฏอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป สมาร์ททีวีของแทบทุกคน
We Are Social ได้เปิดสถิติผ่านรายงาน Digital 2022 Global Overview ของเดือน ม.ค. 2565 พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 พันล้านคนเมื่อต้นปี 2565 โดยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 62.5 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งโลก และประเทศไทยมีอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 77.8 เปอร์เซ็นต์ ติดอันดับที่ 34 ของโลก แน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงการเติบโตของOTT ในไทย โดยจากรายงานจากกสทช. เปิดเผยว่าปี 2564 รายได้ของผู้ให้บริการ OTT ทุกประเภทเติบโตขึ้นถึง 8 เท่าจากปี 2557 และประเภท Subscription Video on Demand (SVoD) ที่เก็บค่าสมาชิก อย่าง NETFLIX, DISNEY PLUS, Amazon Prime Video มีสมาชิกถึง 13.29 ล้านบัญชี
มองเผินๆ เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่จริงแล้วภายใต้ตัวเลขการเติบโตและรายได้มหาศาลของ “อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” (New Telco Market) ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่รายได้ของประเทศไทย เพราะผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมใหม่นี้ ผู้นำคือ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ และเป็น “การแข่งขันในสมรภูมิใหม่” ที่จะต้องได้รับความยุติธรรมทางกฎหมายจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ให้ได้
ในวงการธุรกิจโทรคมนาคมระดับนานาชาติ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) ถือเป็นดัชนีวัดความรุนแรงการแข่งขันในธุรกิจที่นิยมใช้มานำเสนอกันมากที่สุด โดย “อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” ที่มีผู้เล่นดิจิทัลเข้ามาร่วมแข่งขันมากมาย ทำให้ดัชนี HHI บ่งชี้ถึงการแข่งขันที่สูงมาก
โดย N = จำนวนผู้เล่น มีผู้เล่นใหม่สูงขึ้นมาจากผู้เล่นที่เป็นดิจิทัลระดับโลก ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ ไม่น้อยกว่า 10 ราย นอกจากนี้ ในแง่ของรายได้ ตลาดโดยรวมยังมีมูลค่าสูงขึ้นมากจากผู้เล่นดิจิทัล ทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของผู้เล่นดั้งเดิมมีมูลค่าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อนำมาคำนวณเป็นดัชนี HHI ทำให้เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ เป็นตลาดที่ยากต่อการผูกขาด และผู้เล่นทุกรายต้องรีบปรับตัวแข่งกับผู้เล่นระดับโลก
HHI เป็นตัวชี้วัดความเข้มข้นของตลาดในอุตสาหกรรม วัดความเข้มข้นของตลาดใน 50 บริษัท ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมหนึ่งๆ เพื่อพิจารณาว่าอุตสาหกรรมนั้นน่าจะมีการแข่งขันหรือใกล้เคียงกับการผูกขาด ความเข้มข้นของตลาดในอุตสาหกรรมจะพิจารณาจากการตรวจสอบจำนวนบริษัทที่ผลิตหรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์หรือสายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะรวมถึงการกระจายส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของยอดขายสำหรับแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรม นักเศรษฐศาสตร์พิจารณาว่าความเข้มข้นของส่วนแบ่งการตลาดจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของการแข่งขันทางการตลาดและทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ ที่มีผู้เล่น OTT มาให้บริการทดแทนผู้ให้บริการเดิม เช่นการโทรผ่านดาต้า ทำให้ค่า N = จำนวนผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้การกีดกันผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากมีผู้เล่นทางเลือก ให้บริการด้านเสียง ด้านส่งข้อความ ด้านคอนเทนต์ จำนวนมากเข้ามาในตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ ทำให้ค่า HHR มีตัวเลขที่แข่งขันสูงมาก จนอาจทำให้ผู้ประกอบการเดิมที่ไม่ปรับตัวแข่งขันได้ยาก เพราะผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ มีผู้เล่นที่เน้นเทคโนโลยี โดยปัจจุบันมีผู้เล่นดิจิทัลขนาดใหญ่ระดับโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ของไทย ไม่น้อยกว่า 10 ราย ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวอย่างมาก
การแข่งขันในสมรภูมิใหม่
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น “อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” (New Telco Market) คือสมรภูมิใหม่ของการสื่อสารในโลกปัจจุบัน OTT เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 โดย Statista Advertising and Media Outlook ได้ประมาณการไว้ว่า ตลาด OTT ของประเทศไทยจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะเพิ่มถึงประมาณ 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และประเมินจำนวนผู้ใช้บริการ OTT ในไทยว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านรายในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ของผู้ใช้บริการ OTT ในรูปแบบ Subscription Video on Demand (SVoD) จะสูงกว่าแบบ Subscription Linear (SLIN) อย่างเห็นได้ชัด จากงานวิจัยของ ศิริวรรณ อนันต์โท เปิดเผยว่า ภาพรวมของสถานการณ์ของ OTT จึงอยู่ในสภาวะการเติบโต (growth) ทั้งประเภทการบริการแบบบอกรับเป็นสมาชิก (Subscription-based) แบบมีโฆษณา (Advertising based) และแบบจ่ายเป็นรายครั้ง (Transaction-based) และเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตจนกว่าจะมีการให้บริการอื่นมาทดแทน
การแข่งขันในสมรภูมิใหม่นี้จึงดุเดือด โดยเฉพาะในไทย ที่มีลักษณะของการแข่งขันอย่างมีข้อกังขา เพราะรายได้จากการให้บริการ OTT ไม่ใช่รายได้ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม แม้ว่า OTT จะใช้โครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ในการให้บริการ และเก็บรายได้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม
โดยขณะที่ OTT มีรายได้จากแพ็คเกจข้อมูล (data packages) แต่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกลับสูญเสียรายได้จากบริการหลักของตนเองที่ลดลง อาทิ รายได้จากข้อความอย่าง SMS ที่วันนี้รายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับ Line, WeChat, Whatsapp, Facebook Messenger, Telegram หรือ รายได้จากการโทร (Voice revenue) ที่โทรผ่านเน็ต หรือผ่านแอปของบริษัทต่างประเทศมากมาย เช่น Line call, Skype โดยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมต้องลงทุนเพิ่มใน 5G แต่รายได้ตกอยู่กับผู้ให้บริการ OTT ซึ่งกำไรทั้งหมดส่งออกไปยังต่างประเทศ หรือรายได้อีกทางจาก VDO Streaming ดาต้า คอนเทนต์ (Content) ที่ใช้ทรัพยากรอินเทอร์เน็ตมหาศาล แต่ผู้ใช้บริการจ่ายรายเดือนให้เจ้าของคอนเทนต์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรายได้ที่สูญเสียไป
ดังนั้นในกรณีของประเทศไทย การแข่งขันทางโทรคมนาคมบนสมรภูมิใหม่ จึงส่งผลกระทบไม่น้อยกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะไม่ได้สูญเสียเฉพาะภาคเอกชนอย่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม แต่คือรายได้ของประเทศจากเก็บภาษีที่ยังไม่สามารถเก็บจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของการให้บริการ OTT ได้อีกด้วย
รายได้ที่ควรกลับสู่ประเทศ
ย้ำกันอีกครั้ง ว่าไม่ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเพียงใดก็จะยังไม่สร้างรายได้จากภาษีต่างๆ ให้ประเทศไทย หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายควบคุม เพราะเป็นการให้บริการผ่านระบบแอพพลิเคชั่นโดยผู้ให้บริการจากบริษัทต่างชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่นอกประเทศไทย
นอกจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของไทยจะต้องแบกรับต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงมาก จากการประมูลใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีราคาแพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทะลุแสนล้านบาทแล้วนั้น ก็ยังไม่ได้เล่นในสนามเดียวกันของหลักการค้าเสรีกับบริษัทต่างชาติ เนื่องจากบริษัทแม่ของการให้บริการ OTT ตั้งอยู่ในต่างประเทศ รายได้มหาศาลของบริษัทเหล่านี้จึงไม่ถูกควบคุม นำกลับประเทศโดยไม่ต้องจ่ายภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันด้วยยากจากกฎหมายควบคุมและมีต้นทุนทางภาษีที่สูงกว่า และปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดออกมากำกับหรือแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จึงจัดเก็บภาษีไม่ได้
ภูมิทัศน์การสื่อสารโทรคมนาคม (Landscape) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) คือความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเร่งให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามากำกับดูแลการทำตลาดด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรูปแบบใหม่ให้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสม เป็นธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุน รวมทั้งเกิดการบูรณาการโครงข่าย ทั้งโครงข่ายมีสายและไร้สาย ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน การขยายพื้นที่ให้บริการ โดยเฉพาะบริการโครงข่ายแบบมีสาย เพื่อให้ครอบคลุมประชากรผู้ใช้บริการมากขึ้น
ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเร่งออกกฎเกณฑ์ ปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่บนกติกาเดียวกันในการแข่งขัน ก่อนที่ภาษีที่ควรจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศ จะไหลออกนอกประเทศไปมากกว่านี้
เทคโนโลยีแห่งอนาคต
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA, 2563) รายงานว่าผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่ที่ครองตลาดผู้ชมในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ YouTube, Netflix, LINE TV, JOOK, Spotify, Viu, TrueID, AIS Play, WeTV และ SoundCloud ซึ่ง 8 ใน 10 รายนั้น เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ
แนวโน้มของการให้บริการของ OTT ในประเทศไทยยังคงเติบโตได้จากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของปริมาณและคุณภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่มาจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของไทย
เทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ด้วยมาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความยุติธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของไทย และ OTT ในประเทศไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนา “อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่” (New Telco Market) ของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว