สภาผู้บริโภคเปิดเวทีเสวนาจี้ "กสทช." ต้องใช้อำนาจหยุดดีลทรู-ดีแทค

สภาผู้บริโภคเปิดเวทีเสวนาจี้ "กสทช." ต้องใช้อำนาจหยุดดีลทรู-ดีแทค

วงเสวนาสภาผู้บริโภค นักกฎหมาย - นักวิชาการ ฟันธง กสทช. มีอำนาจพิจารณาดีลควบรวมดีแทค - ทรู กสทช. แต่ไม่ใช้อำนาจตัวเอง เตือน กสทช. ต้องใช้อำนาจตัวเองตามกฎหมาย และหลักนิติธรรม หากยังไม่พิจารณาระวังจะเข้าข่ายใช้อำนาจโดยไม่ชอบ

วันนี้ (5 ตุลาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “กสทช. กับหลักนิติธรรม และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการกำกับดูแลคลื่นความถี่สาธารณะ ไม่ใช่นิติ (เพื่อ) ทุน” โดยในงานได้พูดถึงแง่มุมของกฎหมายและการพัฒนางานสาธารณะ ตามหลักนิติธรรมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช. ไม่ได้ดำเนินการตามหลักนิติธรรม โดยจากกรณีการควบรวมกิจการ ดีลทรู-ดีแทค พบว่ากฤษฎีกาและผู้เชี่ยวชาญได้ตัดสินแล้วมีความเห็นตรงกันว่า กสทช. ควรใช้อำนาจตนเองในการตัดสินไม่ควบรวมดีแทค - ทรู เนื่องจากปัญหาของประชาชนหลังจากควบรวม คือการที่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์แพงมากขึ้นประมาณ 244.5% หากเกิดการควบรวมแล้วก็อาจจะส่งผลทำให้การแข่งขันน้อยลง หรือไม่มีเลยก็ได้

ฉะนั้น กสทช. ควรใช้อำนาจของตนเองที่ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคมนั่นเอง ซึ่งถ้าหากไม่ใช้อำนาจทางฝั่งผู้บริโภคก็จะดำเนินการตามหลักนิติธรรมต่อไป แน่นอนว่า กสทช. ไม่ได้มีหน้าที่ในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่มีหน้าที่ที่จะรักษาสิทธิของผู้บริโภคและทำให้เกิดการแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้บริการต่อไป

“ขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชน เราขอแค่นี้หาก กสทช.ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าทีของตัวเองระวังเข้าข่ายการใช้อำนาจโดยไม่ชอบตามกฎหมาย” สารี กล่าว

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ถ้าหากพูดถึงการก่อตั้งของ กสทช. นั้นก็ต้องคงพูดถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ของรัฐออกมา และ กสทช. ก็ได้รับสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

แต่ในช่วงปี 2561 มีความพยายามแก้ไขเพื่อทำให้อำนาจของ กสทช. ในการกำกับดูแลสิทธิ์และบริหารจัดการ รวมถึงการลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั้นลดน้อยถอยลงไป ซึ่งล้วนเป็นเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติของ กสทช. และถ้าหากดูแผนแม่บทของ กสทช. ฉบับที่ 2 ก็จะพบว่ามีการพูดถึงการแข่งขันที่เป็นธรรม และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วน รวมไปถึงการมีอำนาจในการไม่ทำให้ตลาดเกิดการผูกขาด ซึ่งถ้าหาก กสทช. ไม่ทำก็อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าองค์กรทำงานครบถ้วนหรือไม่ จุดอ่อนตรงนี้อาจจะทำให้ถูกฟ้องได้เลยหรือไม่? สิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่รัดกุมและทำตามหลักนิติธรรมมากที่สุด

นอกเหนือจากนี้ กสทช. ต้องอย่าลืมสองเรื่อง คือสัญญากับรัฐที่เกิดจากการได้รับใบอนุญาต ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของ กสทช. เองได้ รวมถึงการรวมกิจการทั้งของดีแทค - ทรู และของเอไอเอส - 3BB ก็เป็นการรวมกิจการประเภทเดียวกัน

กสทช. ไม่สามารถใช้วิธีการศรีธนญชัยในการตัดสิน เพราะประชาชนเข้าใจว่านี่คือการควบรวมกิจการแบบเดียวกัน กสทช. คือตัวแทนรัฐและสังคมในการทำสัญญากับเอกชน และเอกชนถ้าหากต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาก็ต้องมาขออนุญาต กสทช. ซึ่ง กสทช. ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นนายทะเบียนเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้กระทบต่อรัฐและสังคม
 

รศ.ดร.ณรงค์เดช สุรโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติโทรคมนาคม กล่าวตอนหนึ่งให้ กสทช. ทำหน้าที่ที่ไม่ให้ผู้ประกอบการทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันในกิจการ รวมถึงยังมีกฎหมายที่ให้ กสทช. ดูแลการควบรวมกิจการ ซึ่งปัญหาหลัก ๆ คือ ในแง่ของกฎหมายที่อยู่ในปี 2549 หรือต้องใช้ของปี 2561 แต่สิ่งสำคัญคือการควบรวมกิจการต้องเกิดจากการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น สิ่งที่ กสทช. จะต้องทำจากดีลดีแทค - ทรู คือดีลนี้อยู่ในกฎหมายไหน กสทช. ต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และหลังจากนั้นก็ดำเนินการตามขั้นตอนและทำให้เกิดการแข่งขัน

ปัญหาอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดการตั้งคำถามคือ กสทช. มีอำนาจจริง ๆ หรือไม่? ซึ่งพอไปดูกฎหมายแล้ว กสทช. มีอำนาจทั้งการอนุญาต หรือควบคุมการควบรวม ซึ่งตามกฎหมายของปี 2549 กำหนดว่าการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด เพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดนโยบาย ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเท่านั้น จะกระทำก่อนไม่ได้ ฉะนั้นถ้าตีความตามกฎหมายปี 2549 กสทช. ต้องทำหน้าที่ในการอนุญาตตั้งแต่ต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของ กสทช. เอง แต่ทั้งนี้ตามแผนแม่บทและตามกฎหมาย กสทช. ยังคงมีสิทธิ์ในการพิจารณาและสั่งการอยู่ และจากการดีลของดีแทค - ทรู จากการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็เข้าข่ายควบรวมในกิจการเดียวกัน ซึ่ง กสทช. ต้องใช้อำนาจในการสั่งการด้วยเช่นกัน

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชนในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ใช่การทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากไม่ฟังก็ควรจะไปอยู่กำกับดูแลของรัฐแทน แต่ กสทช. คือองค์กรอิสระที่มีสิทธิในการกำกับดูแล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ฉะนั้นพอเกิดการทักท้วงถึงปัญหาการควบรวมกิจการ กสทช. ต้องฟังและนำไปพิจารณา ปัญหาคือทำไม กสทช. ไม่ยอมไปพิจารณา พยายามไม่อยากตีความ ทั้ง ๆ ที่ตนเองมีหน้าที่ในการทำ ซึ่งพอได้อ่านคำชี้แจงของโฆษก กสทช. จากข่าวก็พบว่าข้อมูลเป็นหนังคนละม้วนมากๆ และจากการตรวจสอบข้อมูลของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้มีการตีความให้ กสทช. สั่งการให้ตัดสินในการให้หรือไม่อนุญาตให้ควบรวมก็ได้ด้วยซ้ำ การพยายามไม่ตัดสินใจก็ถือว่าเป็นการทำเป็นไม่รู้ว่ามีข้อกฎหมาย และเสมือนอนุญาตโดยนัยแล้ว 

“ผมว่าการตีความของ กสทช. มันเหลือทน คือมันเกินไป เพราะว่าศาลปกครอง และกฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้วว่ามีอำนาจแต่ กสทช.กลัวอะไร กลัวว่าเมื่อนำเข้าพิจารณาแล้วจะควบรวมไม่ได้หรือไม่ สิ่งที่เราขอก็ไม่ได้มากเกินไปแค่ขอให้ทำตามกฎหมายคือนำเข้ามาพิจารณาใน กสทช.เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้า หากวันที่ 12 ตุลาคม กรรมการ กสทช. ยังพิจารณาว่าเดินหน้าในการควบรวมไม่สะดุดก็ขอให้รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำด้วย” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า การที่ กสทช.บอกว่า การควบรวมดีแทค - ทรู เป็นแต่วาระแจ้งให้ทราบ เท่ากับว่าเป็นการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมซึ่งไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยเช่นกัน