ร้องปปช.สอบรักษาการเลขาฯกสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ร้องปปช.สอบรักษาการเลขาฯกสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ชี้ "ไตรรัตน์" เสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่การประชุมบอร์ดกสทช. บิดเบือนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แถลงต่อสื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในทางเอื้อประโยชน์ ให้เกิดการควบรวมดีลทรูควบดีทค จวกซ้ำปล่อยข่าวปั่นหุ้น เอื้อกลุ่มทุน

วันนี้ (7 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 10.30 น. นายพรชัย เวศย์วิบุล เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียกร้องให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการฯ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการเสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่การประชุม การให้ถ้อยคำ หรือ บิดเบือนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แถลงต่อสื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในทางเอื้อประโยชน์ ให้เกิดการควบรวมกิจการโดยไม่สนใจขั้นตอนของกฎหมาย  

นายพรชัย กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่า กสทช. ต้องพิจารณากฎหมายแม่บทและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ที่จัดตั้งในฐานะองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นอิสระ โดยต้องไม่ยินยอมให้ผู้ใดมาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. มิเช่นนั้นอาจถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยเฉพาะการกระทำของรักษาการเลขาธิการ กสทช.ท่านนี้ 

ร้องปปช.สอบรักษาการเลขาฯกสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

บิดเบือนข้อมูลการควบรวม ก่อนชงเสนอบอร์ด กสทช. 

จากผลการศึกษาของอนุกรรมการชุดต่างๆ และของ TDRI ปรากฏชัดว่า หากปล่อยให้มีการควบรวมกัน จะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบถาวร  ส่งผลต่อราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ให้ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ซึ่ง กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายของตนที่จะพิจารณาไม่อนุมัติให้เกิดขึ้นได้

แต่รักษาการเลขาฯ กลับบิดเบือน ชงเรื่องให้ กสทช. ว่ามีอำนาจเพียงแค่รับทราบรายงานแลกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมภายหลังได้เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจที่จะไม่อนุมัติการควบรวมได้

ซึ่งขัดต่อความเห็นของอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาเอง นักวิชาการ สภาผู้บริโภค อาจารย์นิติศาสตร์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเป็นการบิดเบือนไปจากที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยไปให้การต่อศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ว่า กสทช.มีอำนาจพิจารณาที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ  
 

ชงผลศึกษา ของที่ปรึกษา(ไม่)อิสระทั้งที่ข้อมูลไม่ครบ

มีความผิดปกติในการดำเนินงานของรักษาการเลขาธิการ กสทช. ในประเด็นการแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระเนื่องจากมีผู้บริหารระดับสูงของ TRUE เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีความเกี่ยวโยงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่า กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ Dtac และการค้าปลีก – ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร จะเคยมีข้อเสนอทักท้วง คุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระนั้นอาจไม่มีความเป็นอิสระจริง รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกรรมการอิสระที่ กสทช. ได้มีการกำหนดไว้ แต่สำนักงาน กสทช. โดย ผู้ถูกร้องเรียน กลับละเลย ไม่ตรวจสอบแต่อย่างใด แต่ยังยืนยันที่จะใช้ความเห็นของที่ปรึกษาอิสระรายเดิม รวมถึงสำนักงาน กสทช. ก็ยังไม่เคยชี้แจงให้ กสทช. ทราบว่ามีประเด็นดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งหาก กสทช. พิจารณาไปแล้ว ภายหลังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของที่ปรึกษา ก็จะทำให้มติที่ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมายได้


นอกจากนี้รายงานที่ ที่ปรึกษาอิสระรายนี้ทำมา ก็ไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน แม้ว่าจะมีการร้องขอให้จัดทำเพิ่มเติมมาใหม่ แต่ที่ปรึกษารายนี้กลับปฏิเสธ โดยต่อมา สำนักงานได้เป็นผู้จัดทำข้อมูลในส่วนนี้เอง จึงมีประเด็นว่าจะเป็นผลทำให้กระบวนการพิจารณาของ กสทช. ไม่ถูกต้องไปด้วยหรือไม่ รวมถึงรักษาการเลขาฯ ก็ละเว้นและไม่ดำเนินการโต้แย้งใดๆ กลับช่วยดำเนินการทำเสียเองทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน อันเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยมิชอบ

ปล่อยข่าวกฤษฎีกา ลวงประชาชน ปั่นราคาหุ้นผู้ควบรวม 

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ได้มีการเปิดเผยต่อสื่อมวลชน จากรักษาการเลขาฯ ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความอำนาจการพิจารณาการควบรวมว่า กสทช. ไม่มีอำนาจอนุญาตการรวมธุรกิจ มีเพียงอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เท่านั้น

แต่จากข้อเท็จจริงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในทางตรงกันข้ามว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาอนุญาตในกรณีการรวมธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. เกิดความสับสนต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่มีความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ของ กสทช. 

แม้ว่าหลังจากนั้น รักษาการเลขาฯ ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าว แต่ผลหลังจากที่ข่าวปรากฎออกไปในครั้งแรกนั้น ทำให้ราคาหุ้นของ ทรู และ ดีแทค ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและราคาตกลงในเวลาต่อมา

แต่ก็ได้ออกข่าวปฏิเสธซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่า หากรักษาการเลขาฯ ไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าวตามที่กล่าวอ้าง ควรรีบออกมาปฏิเสธโดยเร็ว แต่ทำเหมือนรอเวลาหรือผลประโยชน์แอบแฝงบางอย่าง มิหนำซ้ำยังไม่มีกล่าวโทษต่อสื่อที่นำเสนอข่าวที่เสนอข่าวบิดเบือนทำให้ตนเองเสียหาย ถูกเข้าใจผิดแต่อย่างอย่างใด และก็มิใช่ครั้งแรกที่รักษาการเลขาฯ มีการให้ข่าวที่ไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านี้เคยให้ข่าวว่า สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อมูลเสร็จสมบูรณ์แล้วและจะรายงานต่อที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 14 กันยายน 2565 แต่ก็ปรากฏในภายหลังว่า ไม่มีวาระการพิจารณาเรื่องนี้ในวันดังกล่าว ประจวบเหมาะกับราคาหุ้นทรูและดีแทค ที่มีการพุ่งขึ้นในจังหวะเดียวกันอย่างน่าสงสัย

นายพรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า จากข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดแจ้ง เห็นได้ว่าการกระทำของ นาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท้ายที่สุด ยังมีพฤติกรรมส่อความร่ำรวยผิดปกติ จึงใคร่ขอให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พิจารณาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินอย่างละเอียดด้วย