กสทช.ลั่นข้อมูลพอทุบโต๊ะปิดดีลแสนล.‘ทรูดีแทค’20ต.ค.นี้

กสทช.ลั่นข้อมูลพอทุบโต๊ะปิดดีลแสนล.‘ทรูดีแทค’20ต.ค.นี้

ลั่นรายงานที่ปรึกษาที่มีอยู่เพียงพอแล้ว แม้ยังเหลือฉบับสุดท้ายที่จะส่งถึงมือ 14 พ.ย.นี้ ระบุได้ซักถามนักวิจัยฯเศรษฐศาสตร์จาก SCF เป็นที่พอใจได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมสรุปให้บอร์ดเคาะได้ในวันประชุมนัดพิเศษแน่นอน เผยเสียงโหวตล่าสุดให้ดีลควบรวม “ผ่าน” ที่ 3 ต่อ 2 เสียง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วานนี้ (17 ต.ค.) เวลา 13.30 น. สำนักงาน กสทช.ได้เปิดประชุมทางออนไลน์กับนักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของ SCF Associates LTD ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศตามที่สำนักงาน กสทช.ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการ

ซึ่งวาระการประชุมนั้นจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนฝ่ายวิชาการของสำนักงานกสทช.ซักถามข้อสงสัยและประเด็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบกรณีการรวมธุรกิจดีลทรูดีแทค ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

โดย SCF ได้ศึกษาผลการศึกษาควบรวมในหัวข้อ A Study on the Impact of a Proposed Merger

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะเสนอรายงานฉบับดังกล่าวให้ที่ประชุม กสทช. ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคในวันที่ 20 ต.ค.นี้
 

ไม่รอรายงานที่ปรึกษาฉบับที่ 3

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า SCF นั้นได้ทำสัญญากับสำนักงาน กสทช. ว่ารายงานผลการศึกษาดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 รายงาน ซึ่งจะส่งทุกๆเดือน โดยรายงานฉบับแรกได้ส่งมายังสำนักงานกสทช.เมื่อ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนฉบับที่สองส่งมาแล้วเมื่อ 14 ต.ค. และฉบับสุดท้ายจะส่งมาในวันที่ 14 พ.ย. 2565

ดังนั้น การประชุม บอร์ดกสทช.วันที่ 20 ต.ค.นี้ บอร์ดจะมีข้อมูลผลการศึกษาให้พิจารณาเพียง 2 ฉบับ แต่ก็เชื่อว่าข้อมูลครบถ้วนเพียงพอแล้ว เพราะตัวรายงานฉบับที่ 1 และ 2 เป็นรายงานที่มีความสำคัญที่สุดมีการรายงานถึงโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่มีการรวมกิจการในต่างประเทศ นอกจากนี้ บอร์ดยังมีข้อมูลจากอนุกรรมการที่บอร์ดตั้งมา 4 คณะก็น่าจะครบถ้วน

“ก็มีกระแสโจมตีมาเหมือนกันว่า ทำไมบอร์ดถึงไม่รอให้รายงานของ SCF ฉบับที่ 3 มาในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ก่อนแล้วจึงค่อยลงมติ แต่สำนักงานกสทช.ก็อ้างว่าใช้ข้อมูลเพียงแค่รายงาน 2 ฉบับแรกก็น่าจะพอแล้ว ซึ่งหากจะให้คาดการณ์ก็เชื่อว่าบอร์ดจะลงมติอนุญาตดีลด้วยคะแนน 3 ต่อ 2 เสียง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการศึกษาของ SCF ระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น พบว่าผลกระทบที่เกิดจากการรวมธุรกิจนั้น จะส่งผลต่อการแข่งขันที่ลดลงในตลาด และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาจะเพิ่มขึ้นในส่วนของตลาดค้าปลีกของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวรวมถึงตลาดอื่นๆที่มีการขายพ่วงไปกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

ขณะเดียวกัน ผลจากสภาพตลาดที่ไม่แข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจนั้น การทำให้สภาพตลาดกลับคืนมาด้วยวิธีการเพิ่มการแข่งขันผ่านมาตรการต่างๆ ทำได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่ายของตัวเอง หรือ MNO) รายใหม่ ,การเพิ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง หรือ MVNO) รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางแข่งขันหรือทางราคา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจไทยในภาพรวมได้ผลกระทบรุนแรงได้ ซึ่งจะมีการศึกษาในรายงานฉบับต่อไปในเดือนพ.ย.

ประเด็นสำคัญตลาดเปลี่ยนหลังควบ

นอกจากนี้ ยังพบว่าการรวมธุรกิจจะทำให้มีค่าดัชนี Herfindahl-Hirschman Index หรือ HHI เพิ่มขึ้น 1,282 ในตลาดที่มีการกระจุกตัวสูงค่า HHI เพิ่มจาก 3,419.9 ในปัจจุบัน เป็น 4,701.9 ภายหลังการควบรวมเนื่องจากจาก MNO รายหลักที่เดิมมี 3 ราย จะลดลงเหลือ 2 ราย เข้าข่ายผูกขาดโดยผู้ค้ารายใหญ่ 2 ราย (Duopoly) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการกระจุกตัวของอำนาจตลาดที่อาจเป็นปัญหาได้

เช่น อาจมีการกำจัดคู่แข่ง โดยการเสนอราคาต่ำกว่าต้นทุนเพื่อยึดฐานลูกค้าของคู่แข่ง เช่น ขายพ่วงบริการ หรือลดราคาโดยทั่วไปและให้ความจุบรอดแบนด์ฟรี หรือในด้านค้าปลีกสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ด้วยการเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด

สำหรับภาพการแข่งขันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายหลังการรวมธุรกิจ จะเป็นการแข่งขันแบบเหมารวม (bundling) ระหว่างเอไอเอสกับคู่แข่งรายใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการควบรวม (New Co.) จะมีความรุนแรงขึ้น แต่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่แล้ว การสร้างข้อเสนอแบบเหมารวมอาจยากมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากยังไม่มีพันธมิตร และพันธมิตรส่วนใหญ่นั้นจะมีข้อตกลงกับผู้ให้บริการแบบมีโครงข่าย MNO อยู่แล้ว ทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น และแม้ว่าผู้ให้บริการรายใหม่อาจจะสามารถแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานกับรายอื่นได้ เช่น ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที

สอดคล้องกับ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาของผู้บริโภค (สอบ.) ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า จากรายงานการศึกษาของ SCF สรุปว่าหากบอร์ดกสทช.อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการจะสร้างผลกระทบต่อสังคมไทย ซึ่งสรุปโดยสาระสำคัญ มีดังนี้

1.พื้นที่คนจน พื้นที่ห่างไกล ที่ที่ไม่สร้างผลกำไรจะไม่มีโครงข่าย หรือบริการใหม่ๆ เข้าไปถึง ซึ่งแปลว่า“คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”โดนละเมิดสิทธิ์การเข้าถึงบริการคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ  

2.ในขณะที่กลุ่มรายได้สูง กลุ่มชุมชนเมืองที่จะสร้างกำไรสูงสุดให้สองค่ายที่เหลือในตลาด จะได้รับบริการโดยเฉพาะระบบ 5 จี อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่มคนรายได้ปานกลางและคนจนเมืองต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเกินความจำเป็น กับเทคโนโลยีทันสมัย 

3.การควบรวมที่มีเหลือสองค่ายจะไม่เกิดการแข่งขัน และกลายเป็นระบบร่วมมือกัน หรือ“ฮั้ว”ไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในโครงข่ายสำหรับการให้บริการใหม่ๆ และ ลดการแข่งขันกันเอง

4.การเข้าสู่ระบบสองค่ายจะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลัง ตามหลังประเทศฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้รั้งท้ายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน  

และ 5.จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีถึงจะสามารถพลิกฟื้นระบบตลาดสองค่ายนี้ กลับเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน หรือเกิดคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด