"สุภิญญา"ถามกสทช.ใช้ตรรกะใดมองทรู-ดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกัน

"สุภิญญา"ถามกสทช.ใช้ตรรกะใดมองทรู-ดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกัน

การพยายามตีความกฎหมายว่า ทั้งทรูและดีแทคไม่ถือเป็นการควบรวมกิจการประเภทเดียวกัน ตรรกะอะไรของ กสทช.บางท่านที่ลงมติแบบนี้ ขอคำอธิบาย หลังจากนี้ในเชิงกฎหมาย สถานีต่อไปก็ต้องฝากความหวังไว้ที่ศาลปกครอง

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า กสทช. มีอำนาจตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 และประกาศเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

ดังนั้น กสทช. จำเป็นต้องทำหน้าที่กำกับดูแลในฐานะ (Regulator) ไม่ใช่เป็นเพียงนายทะเบียน (Registrar) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีเป็นธรรมในกิจกรรมโทรคมนาคม และ คุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์และเหตุผลของการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น มติของ กสทช. มติกรณี ดีลทรูดีแทค เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.) ก็จะส่งผลต่อกรณีการควบรวมของและอื่นๆในอนาคตด้วย เพราะกสทช.ตีความว่าตนเองไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้แค่รับทราบ ถ้ากล้าบอกว่าอนุญาตให้ควบรวมด้วยเหตุผลที่ชัดเจน ยังดีกว่าออกมาแบบนี้ แล้วยังไม่กล้าแถลงมติอีก เพราะเป็นมติที่คลุมเครือ

\"สุภิญญา\"ถามกสทช.ใช้ตรรกะใดมองทรู-ดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกัน

เธอ บอกว่า การที่เราบอกว่า กสทช.มีอำนาจ คัดค้านการควบรวมทรูดีแทค ก็คือการบอกว่ามีอำนาจคัดค้านการรวมธุรกิจของเอไอเอสและกรณีอื่นๆต่อไปด้วย แต่มติเมื่อวานนี้ออกมาแบบมองไม่เห็นอนาคตเลย ว่าผู้บริโภคคนไทยจะพึ่งพาใครต่อไป ดังนั้น ถ้า กรรมการตัดสิน บอกว่าตนเองมีหน้าที่ เพียงรับทราบ แล้วปล่อยผู้เล่นในตลาดปรับกติกากันเอง อยากประมูลคลื่นก็ประมูล อยากรวมก็รวม อยากเลิกก็เลิก ฯลฯ แล้ว กสทช.จะทำงานกำกับกติกาอย่างไรต่อไป

ขนาดปัจจุบันมีสามรายใหญ่ สังคมยังบอกว่า กสทช.เป็นเสือกระดาษ เวลาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบการเหลือสองรายใหญ่ หรือ Duopoly รายเดิมที่ใหญ่สุดจะมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เปรียบกับสมัยก่อนที่เรามีแค่ เอไอเอส กับ ดีแทค การมีออเร้นจ์ขณะนั้นที่เข้ามาเป็นรายที่สามทำให้ราคาลดลงตามกลไกการแข่งขัน คนเจนเอกซ์จะเข้าใจดี เพราะเริ่มใช้มือถือกันตอนมีรายที่สองและสาม รายแรกคือแพงเกินจะใช้ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เวลาหลายปีมาก กว่าจะมีผู้ให้บริการมือถือรายที่สอง แล้วก็รายที่สาม ที่การแข่งขันทำให้ราคาลดลง คนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้มากขึ้น ตอนนี้เรากำลังย้อนยุคกลับไปกว่ายี่สิบปีก่อน
 

"ต้องไม่ลืมว่า ผู้ใช้มือถือส่วนใหญ่ของไทย ใช้แบบพรีเพด หรือแบบเติมเงิน จ่ายล่วงหน้า ไม่ใช่คนส่วนน้อยที่สามารถเหมาจ่ายแบบแพคเกจได้ แต่กลุ่มพรีเพดแบกรับต้นทุนมากกว่า จ่ายทีละน้อยแต่แพงกว่า ถ้ามีค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้นแม้เพียงหลักสิบต่อเดือน ก็คือภาระในครัวเรือน แต่ทวีคูณกำไรให้เอกชน

เธอ ระบุการแค่รับทราบ แม้บอกว่ามีเงื่อนไข แต่ในทางกฎหมายถามว่าบังคับอะไรได้แค่ไหน ถ้ามติบอกว่า เห็นชอบแบบมีเงื่อนไข ยังดูเป็นประโยชน์กว่าแค่รับทราบที่น้ำหนักเบาหวิวกว่าขนนก แล้วเป็นการลงมติซ้ำเสียงอีกในเรื่องใหญ่แบบนี้ ฝากนักกฎหมายมหาชนช่วยวิเคราะห์ต่อด้วย ทั้งนี้ กิจการโทรคมนาคม เป็นธุรกิจแข่งขันน้อยรายอยู่แล้ว (Oligopoly) เพราะลงทุนสูง รายใหม่เข้าสู่ตลาดยาก ถ้ารัฐไม่ออกกติกาในการส่งเสริม เทียบกับกิจการสายการบิน ถ้าเหลือเพียงสองราย ท่านคิดว่าราคาตั๋วจะแพงขึ้น หรือ ถูกลง โดยเฉพาะในช่วงที่ demand การเดินทางสูงขึ้น

"ที่อึ้งได้มากสุด คือการพยายามตีความกฎหมายว่า ทั้งทรูและดีแทคไม่ถือเป็นการควบรวมกิจการประเภทเดียวกัน ตรรกะอะไรของ กสทช.บางท่านที่ลงมติแบบนี้ ขอคำอธิบาย เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่น กสทช.ทั้งองค์กรการลงมติได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะมาถ่วงดุลบ้างหรือไม่ อะไรคือเหตุผล"

สุดท้ายแล้งถามว่าแล้วหลังจากนี้ ผู้บริโภคคนไทยทำอะไรต่อได้บ้าง ถ้าในเชิงกฎหมาย สถานีต่อไปก็ต้องฝากความหวังไว้ที่ศาลปกครอง ถ้าระดับปัจเจกก็มีการย้ายค่าย แต่จะย้ายไปไหนถ้าเหลือสอง ถ้าเอ็นทีขึ้นมาเป็นทางเลือกที่ 3 ได้คงดีแต่คิดว่ารัฐบาลต้องหนุนแบบเต็มกำลังให้แข่งขันได้"