‘Data Economy’ น่านน้ำศก.ใหม่ ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต

‘Data Economy’ น่านน้ำศก.ใหม่ ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต

เอ็มไอที เทคโนโลยี รีวิว อินไซท์ คาดการณ์ว่า อนาคตอันใกล้ปริมาณข้อมูล หรือดาต้าจะเติบโตทวีคูณเสมือนห่าฝน โดยในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นถึง 175 เซตตาไบต์ (ZB) หรือประมาณ 1,000,000,000,000,000,000,000 ไบต์

นับเป็นดาต้าปริมาณมหาศาลที่เคลื่อนไหวครอบคลุมทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต สุขภาพ การเดินทาง การทำธุรกิจ การทำธุรกรรมหรือการเข้าถึงแหล่งคอนเทนต์ต่างๆ ตามการเติบโตของโลกดิจิทัล “ดาต้าเซ็นเตอร์” ทำหน้าที่เป็น “House of Data” ที่จัดสรรพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล

ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท และพลวัตสูงต่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจออนไลน์ ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวการปกป้องข้อมูลอย่างจริงจัง นับตั้งแต่กรณีการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ GDPR ของสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561จนถึงการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ของไทย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD ระบุว่า มีถึง 137 จาก 194 ประเทศได้ออกกฎหมาย เพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวโดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนการบังคับใช้กฎหมายแล้วอยู่ที่ 57%

โอกาสท่ามกลางความท้าทาย

“ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) เล่าว่า ผลการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติอย่างชัดเจน โดยยังทำให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจอยู่หันมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในพื้นที่เขตอำนาจศาลและปฏิบัติตามกฎหมายถิ่นที่อยู่ของข้อมูล (Data Residency Laws) ที่รัฐบาลออกกฎหมายให้องค์กรต่างๆ จัดเก็บข้อมูลในประเทศ 

ที่นอกจากดาต้าต้องถูกจัดเก็บไว้ในประเทศแล้ว ยังต้องมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ และสำนักงานในประเทศอย่างชัดเจนด้วย อาทิ จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น ซึ่งประเทศไทย ยังไม่ได้เข้มข้นขนาดนั้น

Data Regulation ยังเป็นความท้าทายสำคัญส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการลงทุน เนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ ยัง “สับสน” กับกฎหมายแต่ละประเทศ จึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Regulation as a Services หรือ Data Residency as a Service ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คำปรึกษาและจัดการเรื่อง Data Privacy รวมถึงการตีความเอกสารข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆจับมือร่วมกับผู้ให้บริการระบบคลาวด์

3 แกนหลักสู่ ‘Data Economy’

ศุภรัฒศ์ สรุป 3 ปัจจัยสำคัญ ที่จะดันให้ประเทศไทยไปสู่ Data Economy ได้ เรื่องแรก คือ ความมั่นคงของชาติ (National Security) กับสิทธิปกครองของเราเองเนื่องจากไทยมีการ Consume Data อย่างมหาศาลเฉลี่ยต่อวันใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่า 7 ชั่วโมงสำหรับผู้บริโภคทั่วไปควรมีสิทธิ์ปกครองดาต้าของเราเอง ในขณะที่ดาต้าควรอยู่ในไทย โดยยึด Data Residency Laws ของประเทศนั้นๆ

เรื่องที่สอง หลักการความเป็นส่วนตัว สำหรับการถ่ายโอนข้อมูลส่วนตัวไปยังประเทศอื่นๆ (หรือที่เรียกว่าSafe Harbor)จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในบริบทการถ่ายโอนระหว่างประเทศ เป็นกรอบการทำงานเชิงดาต้าร่วมกันระหว่างประเทศ เปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า

เรื่องที่สาม คือ การค้าและการลงทุน (CommercialInvestment) เนื่องจาก Data is a New Oil ไม่ต่างจากพลังงาน ดังนั้นหลาย ๆ ประเทศจึงให้ความสำคัญในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดาต้าเพื่อเพิ่มการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ ประเทศอินโดนีเซียที่ออกกฎระเบียบว่า Data จะต้องจัดทำศูนย์ข้อมูลและศูนย์กู้คืนข้อมูลสำรองภายในประเทศ และต้องอยู่ในประเทศเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก

“STT GDC Thailand ในฐานะผู้นำไฮเปอร์สเกล ดาต้า เซ็นเตอร์ เข้าใจและตระหนักดี ถึงความท้าทายและโอกาสที่จะนำพาประเทศไทยเดินหน้าไปสู่น่านน้ำทางเศรษฐกิจใหม่ จึงได้สำรวจความเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลและซอฟต์แวร์ซึ่งพบว่า มาตรการส่งเสริมและหลักเกณฑ์ควบคุมต่างๆ ของภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนั้น การปรับนโยบายสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ก็สามารถพาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำใน Data Economy ที่สร้างทั้งเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเข้าประเทศได้”

แนะรัฐจูงใจนักลงทุน

“ศุภรัฒศ์” มองว่า จากนี้ภาครัฐต้องมี “มาตรการพิเศษ” เพื่อจูงใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ให้เลือกลงทุนในประเทศไทย (เหนือกว่าทุกประเทศในทวีปเอเชีย) ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่ากฎหมายการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป (ทั้งกฎหมายบีโอไอและอีอีซี)

ในส่วนของ ด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่เป็นทรัพยากรหลักในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ จากสถิติในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ใช้พลังงานในปริมาณไม่ต่างจากอุตสาหกรรมสายการบิน หรือประมาณ 2% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโลก

ดังนั้นนโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน การสนับสนุนด้านการผลิตไฟฟ้า แรงจูงใจด้านราคาหรือการจัดสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ จึงเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุนหลักของสรรพสิ่งในดิจิทัล

ด้านการปรับกฎหมายหรือกฎระเบียบให้ชัดเปลี่ยนจากการกีดกันตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นกำหนดแนวทางควบคุมการประกอบกิจการ นอกจากส่งเสริมและยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันหลากหลาย อาทิ Data Center, Automated E-Commerce, Industrial Park, E-Medical, Tourism และ 5G Smart Farming แน่นอนว่า ช่วยสร้างรายได้จากการลงทุนใหม่ให้ประเทศไทยได้มหาศาล

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีคือ ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดัน Data Economy ประกอบด้วยเอไอ คลาวด์และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย (Security Technology )รวมถึง โทเคนไนซ์เซชั่น ที่เป็นการผสมผสานความสามารถของเทคโนโลยีบล็อกเชนบวกกับคริปโทเคอร์เรนซี่อันนำไปสู่การสร้าง Property & Real Estate สมัยใหม่ ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

“ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก Data ตรงนี้ จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสด้านการลงทุนใหม่ๆในมุมกฎหมายและการจัดทำนโยบายของภาครัฐ สามารถปรับได้ แต่ต้อง สมดุล และ ทันสมัย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กลายเป็นธุรกิจ S-Curve ของประเทศ โดยมี ดาต้า เซ็นเตอร์ เป็น House of Data สำคัญ เพื่อนำประเทศไปสู่น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่"