ธุรกิจเปลี่ยน “ไปรษณีย์ไทย” ปรับ ขยายเน็ตเวิร์กขนส่งสู่ฮับ ‘CLMV’
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอานิสงส์จากตลาดอีคอมเมิร์ซที่โตทะลุ 100% เฉลี่ยทุกปี ตัวเลขในปี 2565 คาดว่า จะมีมูลค่าทะยานเกิน 4.2 ล้านล้านบาท ทำให้ตลาดขนส่งโลจิสติกส์ "เติบโต" เป็นเงาตามตัว มีจำนวนพัสดุที่ส่งวันละเกือบ 7 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นของ "ไปรษณีย์ไทย" มากกว่า 4 ล้านชิ้น
มุ่งสู่ฮับโลจิสติกส์ซีแอลเอ็มวี
“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท เปิดเผยว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นการยกระดับการขนส่งและโจจิสติกส์ในปี 2566 ให้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทุกระดับ รวมถึงทั่วโลกได้มากขึ้น
ไปรษณีย์ไทย ได้ปรับบทบาทองค์กรสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร และขยับสู่การเป็นศูนย์กลางผู้ให้บริการขนส่งโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 300 ล้านคน
สำหรับรายได้องค์กรในปัจจุบันปี 2565 น่าจะจบที่ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนกลุ่มบริการขนส่ง และโลจิสติกส์ 47.62 % กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ 31.26% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.94% กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78% กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.66%
ไปรษณีย์ ยังมีแผนแสวงหารายได้จากน่านน้ำใหม่ทางธุรกิจ ทั้งบริการด้านการเงิน ขนส่ง และค้าปลีก ซึ่งเป็น New S- Curve ขององค์กรด้วย
“ถ้ามีคู่แข่งที่เป็นผู้ให้บริการต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดในไทย ความแข็งแกร่งที่เราอยากสร้าง คือ การมีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ เชื่อมซีแอลเอ็มวี ที่มีประชากรอยู่มากกว่า 300 ล้านคน ทำให้เรามีเน็ตเวิร์กที่เข้มแข็ง ไม่มีใครเข้ามาเจาะตลาดได้ หรือไม่สามารถแข่งขันกับเราได้”
รองรับขนส่งข้ามแดนที่รวดเร็ว
เขา กล่าวว่า การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซส่งผลต่อความคึกคักของการขนส่งข้ามพรมแดน ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ไปรษณีย์ไทย และผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ เป็นปลายทางที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ไปรษณีย์ไทย จึงร่วมมือด้านขนส่งกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao :ปนล) โดยเฉพาะในเส้นทางขนส่ง เร่งหารือถึงความเป็นไปได้ในการขนส่งทางราง ภาคพื้นเส้นทางลาว-คุนหมิง รองรับการขนส่งข้ามแดนที่รวดเร็ว เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค จากไทยผ่านลาวไปถึงจีน และต้นทางจีนผ่านลาวมายังไทย
โดยขณะนี้ ปณท ได้เปิดหารือแบบพหุภาคีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน หากในอนาคตสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟได้ จะทำให้การขนส่งทั้ง 3 ประเทศมีความสะดวกขึ้น รวมถึงเดิินหน้าบริการขายสินค้า อีคอมเมิร์ซ นำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่ายบนเว็บ thailandpostmart.com ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกสินค้า เช่น งานคราฟท์ กาแฟ สินค้าหัตถกรรมจากไม้ ผ้าทอมือ ปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 15,000 รายการ มีร้านค้าราว 7,000 แห่ง มีรายได้ 500 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีบริการการเงิน ทั้ง 2 หน่วยงานได้เตรียมพัฒนาบริการการเงินแบบใหม่ รองรับการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันหรือ e-Wallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ สะดวกต่อการค้าขายกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ซื้อ และส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้เร็วขึ้นกับทั้ง 2 ประเทศ
ชูโซลูชั่นดิจิทัลตัวช่วยธุรกิจปี 66
ขณะที่ แผนดำเนินงานปี 2566 จะรุกปรับบทบาทองค์กรผ่านการเป็น “ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจร ยั่งยืนตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ผ่านโซลูชั่นใหญ่ ได้แก่ โซลูชั่น Global Cross Border Service ด้วยบริการขนส่ง และโลจิสติกส์ครบวงจร มุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีบริการรองรับทั้งคลังสินค้า Fulfillment ระหว่างประเทศบนพื้นที่เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโครงการคลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse)
ปณท ยังมุ่งพลิกโฉมภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัลและเทคโนโลยี ผ่านการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญคือ โครงการ Digital Post ID เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่งที่อยู่บนกล่องซองจากแบบเดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล ในรูปแบบ QR Code โดยทุกภาคส่วนจะได้รับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย อีกทั้งมุ่งเป็นขนส่งรายแรกที่จะ นำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์ และระบบนำจ่าย จำนวนกว่า 600 คัน ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 2566 สอดรับกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโลก
แนวทางไปรษณีย์ไทย คือ อยู่เคียงข้างคนไทยในฐานะหน่วยงานการสื่อสาร และขนส่งของชาติ เน้นทำงานเชิงรุก เข้าหาลูกค้า ดูแลคนไทยเพื่อให้ทุกคนไว้วางใจและนึกถึงไปรษณีย์ไทยทุกครั้งที่ต้องการใช้บริการ
อีก2ปีมุ่งสู่ "ดาต้า คัมพานี"
ปณท ยังตั้งเป้าปั้นองค์รให้นำด้วยโซลูชั่นด้านการขนส่งด้วย “ดาต้า” โดยต้องการเป็นองค์กรแห่งดาต้าในอีก 2 ปี ผ่านการนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กร มาใช้สร้างและเสริมศักยภาพบริการ ซึ่งจะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญ เช่น พัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) พัฒนาระบบซีอาร์เอ็ม และบิ๊กดาต้า เพื่อรวบรวมข้อมูลลูกค้าในทุกมิติและนำมาวิเคราะห์ จัดกลุ่ม นำเสนอสินค้า ขยาย “ทีมขาย ทีมขน และทีมแคร์” ดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่เรื่องใช้ระบบขนส่งที่เหมาะสม ราคา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงทำการตลาดบนแพลตฟอร์มไปรษณีย์ไทย
"เรามุ่งสร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ Zero Complain ลดข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น พัสดุสูญหาย คอมเม้นท์บนโซเชียลมีเดียให้เป็นศูนย์ เพิ่มศักยภาพในส่วนที่ได้เปรียบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม การนำจ่ายที่มีความรวดเร็ว แม่นยำด้วยระบบ Cross Navigate Networking ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนไปรษณีย์ไทยจะดูแลพัสดุทุกชิ้นให้เดินทางไปถึงปลายทางด้วยความปลอดภัย"