มติบอร์ดกสทช. 4:3 ล้มกระดานเน็ตฯสธ. 3,800 ล.
บอร์ดกสทช.โหวตคว่ำ4:3 หลังจากประชุมนัดพิเศษ 3 ครั้ง เพื่อให้แก้ไขเนื้อหาโครงการตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบประมาณด้านโทรคมนาคม แต่สนง.ตีมึนส่งเอกสารเดิมไม่ยอมปรับ
แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา บอร์ดกสทช. มีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2565 ฉบับที่ 2 ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565) โครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) หรือ เทเลเฮลท์ ตามโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (Universal Service Obligation :USO) ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม และมีส่วนของระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขได้ งบประมาณ 3,850 ล้านบาท
โดยบอร์ดได้ลงมติ 4:3 ยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว และให้สำนักงานกสทช.นำโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสาธารณสุข มาเสนอแทนทันที เช่น การขยายโครงข่ายโทรคมนาคมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) โดยเฉพาะในพื้นที่ชายขอบ ในครั้งต่อไป เป็นต้น
สำหรับบอร์ด 4 คน ที่โหวตยกเลิกโครงการเทเลเฮลท์ ประกอบด้วย นางสาวพิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์,พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง,นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม
ขณะที่บอร์ด 3 คน ที่ยกมือโหวตให้โครงการเดินหน้าต่อ คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.,นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร
แหล่งข่าวกล่าวว่า บอร์ดทั้ง 4 คน ไม่ได้ต้องการขัดขวางโครงการ เทเลเฮลท์ แต่บอร์ดไม่สามารถโหวตงบประมาณโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่ในโครงการเป็นการลงทุนระบบไอที ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการให้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่ายด้านโทรคมนาคม
ดังนั้นในการประชุมบอร์ดตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา จึงมีความเห็นให้สำนักงาน กสทช.กลับไปปรับปรุงเนื้อหาโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ แต่หลังจากกำหนดประชุมนัดพิเศษมา 3 ครั้ง เนื้อหาในโครงการก็ยังไม่ได้ปรับปรุงตามที่บอร์ดเสนอ
จนกระทั่งในการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา บอร์ดมีความเห็นว่า หากต้องอนุมัติงบประมาณสามารถอนุมัติได้แค่หลักร้อยล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เท่านั้น ส่วนที่เหลือที่เป็นระบบไอที ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการตั้งงบประมาณเพิ่มเติม หรือ ต่อยอดโครงการเอง เหมือนการสร้างถนน กสทช.มีหน้าที่สร้างถนน ไม่ใช่ซื้อรถยนต์ให้
ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายศุภัช ขอให้สำนักงานกสทช.กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมว่าโครงการมีประโยชน์อย่างไร ซ้ำซ้อนหรือไม่ ไปก่อนหน้านี้ แต่สำนักงานกสทช.ตอบไม่ได้ และไม่ได้ทำเนื้อหาเพิ่มเติมมาเสนอ ขณะที่นายสมภพ ก็ได้ชี้แจงอย่างละเอียดว่าโครงการที่เข้ากับวัตถุประสงค์ด้านโทรคมนาคมต้องมีรูปแบบไหนบ้าง แต่ประธานกสทช.ต้องการให้โครงการโดยภาพรวมสามารถขับเคลื่อนได้ทั้งโครงการ ทั้งโทรคมนาคมและไอที
แหล่งข่าว กล่าวว่า ไม่เพียงเทเลเฮลท์ เท่านั้น แต่บอร์ดกสทช.ยังพิจารณาทุกโครงการในมาตรฐานเดียวกัน คือ เน้นโครงการด้านโทรคมนาคม จึงยังมีอีกหลายโครงการที่ไม่ผ่านการอนุมัติ เช่น โครงการระบบร้องเรียนของศูนย์ดำรงธรรม,โครงการขอซื้อโดรนของกองทัพ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ากสทช.มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการอนุมัติงบประมาณที่ตรงกับวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมนัดพิเศษดังกล่าว ประธานกสทช.พยายามที่จะให้บอร์ดอนุมัติในหลักการไปก่อน แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นวาระที่เสนอเพื่อพิจารณา ไม่สามารถอนุมัติในหลักการได้ จึงมีการเสนอให้โหวต และบอร์ดมีครบแล้ว 7 คน ไม่เหมือนก่อนหน้านั้นที่มีเสียงเพียง 6 คน จนเกิดดับเบิ้ลโหวตของประธาน อย่างที่ผ่านมา
สำหรับรายละเอียดของโครงการดังกล่าวภายใต้งบประมาณ 8,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 2 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ แผน 1 วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม
-ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข 3,850 ล้านบาท หรือ เทเลเฮลท์
-ระบบโทรคมนาคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม 1,000 ล้านบาท แผน 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท
-ระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2,000 ล้านบาท ระบบโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง 1,000 ล้านบาทภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 13 เขตสุขภาพ แบ่งเป็น 1,147 หน่วยบริการ