‘แคสเปอร์สกี้’ ปรับโฉมธุรกิจ รับศึกใหม่ ภัยคุกคามไซเบอร์
แคสเปอร์สกี้’ ปรับโฉมธุรกิจ รับศึกใหม่ ภัยคุกคามไซเบอร์ หลัง ภัยคุกคามและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งเชิงจำนวนและความรุนแรง พบไฟล์ใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายเฉลี่ย 400,000 ไฟล์ต่อวัน บล็อกการโจมตีจากแหล่งออนไลน์มากถึง 505,879,385 ครั้ง
ปี 2565 ระบบตรวจจับของ “แคสเปอร์สกี้” ค้นพบไฟล์ใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายเฉลี่ย 400,000 ไฟล์ต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2564 เพิ่มขึ้น 20,000 ไฟล์ต่อวัน ทั้งยังได้บล็อกการโจมตีจากแหล่งออนไลน์มากถึง 505,879,385 ครั้ง
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สกัดการโจมตีของโมบายมัลแวร์ได้มากถึง 207,506 ครั้ง สกัดการโจมตีในประเทศไทยจำนวน 14,050 ครั้ง
เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ภัยคุกคามประเภทใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสตีลเลอร์ (stealer) ตัวขโมยขั้นสูงที่กำหนดเป้าหมายไปที่บัญชีของแพลตฟอร์มเกมออนไลน์ยอดนิยม กระเป๋าเงินคริปโต
รวมถึง สตอล์กเกอร์แวร์ (stalkerware) ที่เปิดช่องให้ผู้กระทำความผิดแอบสอดแนมชีวิตส่วนตัวของบุคคลอื่นผ่านโมบายดีไวซ์ มีข้อมูลด้วยว่ามีโมบายแบงกิ้งโทรจันที่พุ่งเป้ามาที่ผู้ใช้งานในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 32 รายการ คริปโตฟิชชิง 13,194 รายการ
ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่
เบญจมาศ กล่าวว่า โลกของเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวมากเท่าไร ยิ่งต้องระมัดระวังภัยคุกคามมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่ามีผู้บริโภคถึง 70% ที่เห็นถึงความสำคัญของซิเคียวริตี้โซลูชั่น ทว่ามีเพียง 26% เท่านั้นที่ติดตั้งโปรแกรมเพื่อป้องกันดีไวซ์ของตัวเอง
มีการคาดการณ์ว่า จากปีที่ผ่านมาที่ดิจิทัลอีโคโนมีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าราว 1.94 แสนล้านดอลลาร์ ปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 20% มูลค่าแตะ 2 แสนล้านดอลลาร์
ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้งานจะต้องมีความตระหนักรู้และคำตอบสำหรับทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ
“การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเติบโตของดิจิทัลอีโคโนมี รวมถึงดาต้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้งานโมบาย ล้วนทำให้ภัยคุกคามและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งเชิงจำนวนและความรุนแรง”
เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายและความจำเป็นที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ แคสเปอร์สกี้ได้ปรับโฉมผลิตภัณฑ์สำหรับคอนซูมเมอร์และการคุ้มครองผู้บริโภคให้ “เหนือกว่าการเป็นแอนตี้ไวรัส” พร้อมวางแนวทางใหม่และวิสัยทัศน์เชิงวิวัฒนาการสำหรับอนาคตในปีต่อๆ ไป
รับมือภัยคุกคามยุคใหม่
ล่าสุด เปิดตัวพอร์ตโฟลิโอโซลูชันสำหรับผู้บริโภครูปแบบใหม่ ที่ใช้งานง่ายสำหรับผู้ใช้ชาวไทย นอกเหนือจากชื่อแบรนด์ใหม่แล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้ยังนำเสนอยูสเซอร์อินเทอร์เฟซและประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่ได้รับการปรับปรุงในหลายแพลตฟอร์ม ราคาเริ่มต้น 690 บาท ต่อ 1 ผู้ใช้งานต่อปี
นอกจากนี้ นำเสนอคุณสมบัติที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมการคุ้มครองแต่ละประเภทแก่ผู้บริโภคสมัยใหม่ ได้แก่ ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ประสิทธิภาพ และข้อมูลส่วนบุคคล
สำหรับแนวทางการตลาด การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ของ แคสเปอร์สกี้ จะมีตั้งแต่ระดับมาตรฐานจนถึงพรีเมียม ครอบคลุมทั้งเชิงประสิทธิภาพการใช้งาน การป้องกันบัญชี ข้อมูลสำคัญ รองรับการใช้งานหลากหลายดีไวซ์ไม่ว่าจะเป็นวินโดว์ แอนดรอยด์ ไอโอเอส ที่สำคัญใช้งานง่าย
ขณะเดียวกัน เพิ่มบิสิเนสโมเดลซึ่งเหมาะกับพฤติกรรมการใช้งานที่มีความหลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเลือกแพ็กเกจการใช้งานโซลูชันได้ตามความต้องการจริง รวมถึงฟีเจอร์พิเศษสำหรับการดูแลเด็กและเยาวชนคนครอบครัว หลังจากนี้ทางแคสเปอร์สกี้จะเดินหน้าให้ความรู้ตลาดเพื่อผลักดันการเติบโตให้ได้มากขึ้น
ตัวจักรเพิ่มรายได้ ‘บีทูซี’
กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่นี้แบ่งออกเป็นสามแบบแผน ได้แก่ Kaspersky Standard, Kaspersky Plus และ Kaspersky Premium ทุกแผนเป็นแบบไม่จำกัดแพลตฟอร์ม สามารถป้องกันอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ได้ทุกโอเอส
การมาของโควิดได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรม ผลักดันให้ผู้บริโภคอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้น คาดว่าการปรับโฉม เปลี่ยนชื่อ เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึงการตระหนักรู้ที่มากขึ้นของผู้บริโภคเองจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ในประเทศไทยได้มากขึ้นและมากกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากบีทูบี 70% บีทูซี 30%
“ความเสี่ยงของการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์กำลังเพิ่มขึ้น ปัจจุบันโซลูชันการรักษาความปลอดภัยไม่ได้เป็นเพียงโซลูชันป้องกันไวรัสสำหรับพีซีเท่านั้น แต่เป็นระบบนิเวศที่ครอบคลุมบริการรักษาความปลอดภัยสำหรับทุกแพลตฟอร์มและทุกอุปกรณ์”