‘การ์ทเนอร์’ เปิดข้อมูล ชี้ ‘ซีอีโอ’ มอง AI ส่งผลกระทบสูงสุดต่อภาคอุตฯ!!
การ์ทเนอร์ เผยผลสำรวจของซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูง พบว่า 21% ระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สุด และเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมไปในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
Key Points :
- ครึ่งหนึ่งของบรรดาซีอีโอเผยว่า “การเติบโต (Growth)” เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก
- ซีอีโอส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและถดถอยจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ และส่งผลกระทบไม่ลึก
- ปัญหาเงินเฟ้อและความอ่อนไหวด้านราคากำลังทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด
การ์ทเนอร์ เผยผลสำรวจของซีอีโอและผู้บริหารระดับสูง พบว่า 21% ระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สุดและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมไปในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
มาร์ค ราสกิโน รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “Generative AI จะส่งผลกระทบอย่างสูงต่อธุรกิจและรูปแบบการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตามความกลัวที่จะตกเทรนด์หรือพลาดโอกาสทางธุรกิจกลับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของตลาดเทคโนโลยี โดย AI กำลังเข้าไปสู่จุดที่ผู้บริหารที่ยังไม่ลงทุนในเทคโนโลยีนี้เริ่มกังวลว่าพวกเขาอาจพลาดบางสิ่งที่สำคัญในการแข่งขัน"
The 2023 Gartner CEO and Senior Business Executive Survey เป็นรายงานประจำปี จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจมุมมองของบรรดาผู้บริหารธุรกิจอาวุโสกว่า 400 ราย ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีรายได้และขนาดองค์กรแตกต่างกัน จากทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือ (North America), ยุโรป, เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้
ครึ่งหนึ่งของซีอีโอมองว่า “Growth” คือ กลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญอันดับแรก
คริสติน โมเยอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “เมื่อต้องจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ซีอีโอรู้สึกลังเลแต่ยังเดินหน้าไปต่อ โดยซีอีโอเกินครึ่งเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและถดถอยในปีนี้จะกินเวลาช่วงสั้น ๆ และผลสำรวจยังเผยให้เห็นว่ากระแสเงินสด เงินทุน และการระดมทุนมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย”
แม้องค์กรจะเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามา แต่ครึ่งหนึ่งของผู้บริหารระดับสูงระบุว่าการเติบโต (Growth) เป็นความสำคัญเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจอันดับแรกในอีกสองปีข้างหน้านี้ โดยยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอยู่ในอันดับต้น ๆ รองลงมา คือ ประเด็นด้านแรงงาน
“หลังสามปีแห่งความผันผวน การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอเริ่มมั่นคง โดยผู้นำในระดับผู้บริหารกำลังมองทะลุผ่านช่วงเวลาวิกฤตรอบด้านไปสู่ช่วงเวลาแห่งการขับเคลื่อนการแข่งขันในยุคถัดไปที่ยึดพนักงานที่มีความสามารถ (Talent) ความยั่งยืน (Sustainability) และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นปัจจัยขับเคลื่อนและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
โดยมีการกล่าวถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 25% จากการสำรวจเมื่อปีก่อน นับเป็นครั้งแรกที่ความยั่งยืนติด 10 อันดับแรกของความสำคัญเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญสูงกว่าหมวดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
เงินเฟ้อดันพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน
ซีอีโอ 22% ระบุว่าเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายต่อธุรกิจมากที่สุด และเกือบหนึ่งในสี่ของบรรดาซีอีโอคาดการณ์ว่าในปีนี้ความอ่อนไหวด้านราคา (Price Sensitivity) ที่สูงขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดต่อความคาดหวังของลูกค้า อย่างไรก็ตามการเพิ่มราคาสินค้าและบริการยังเป็นแนวทางรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อที่มีความสำคัญที่สุด (44%) ตามด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (36%) และการเพิ่มประสิทธิผล รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ระบบอัตโนมัติ (21%)
“เป็นเรื่องน่ากังวลที่ซีอีโอดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับประสิทธิผลมากเท่าที่ควรในช่วงภาวะเงินเฟ้อ หรืออาจเป็นเพราะพวกเขามองว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่กลายเป็นปัจจัยถาวรของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผู้นำและซีอีโอต้องนำระบบอัตโนมัติมาปรับใช้เพื่อออกแบบวิธีการทำงาน สร้างกระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้มีประสิทธิภาพ แทนที่การผลักภาระต้นทุนไปให้ลูกค้า” โมเยอร์ กล่าวเพิ่มเติม
การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสำคัญสูงสุดต่อทีมงาน
เมื่อถามถึงผลกระทบของความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อธุรกิจ ซีอีโอ 26% ระบุว่าการขาดแคลนบุคลากรเป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายให้องค์กรมากที่สุด ดังนั้นการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญสูงสุด โดยความกังวลเกี่ยวกับค่าตอบแทนคือการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุดของพนักงานและพฤติกรรมของพนักงานในอนาคต รองลงมาคือ ความต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น และการทำงานระยะไกลหรือไฮบริด
“ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ค่าจ้างมีความสำคัญมาก แต่ในวงจรเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ปัญหาการว่างงานมักจะบ่อนทำลายอำนาจของตลาดแรงงาน” มาร์ค ราสกิโน กล่าวเพิ่มเติม