ด..เด็ก
ความตื่นตัวในเทคโนโลยีเอไอยังดูเหมือนจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน เพราะภาคธุรกิจต่างก็มองเห็นในการเติบโตและกระแสการตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมไฮเทค
ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ที่เน้นด้านเอไอมากขึ้น หรือแอพพลิเคชันใหม่ๆ ที่ใช้พลังจากเอไอได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบมหาศาลในทุกภาคส่วน แต่ความพร้อมของเราอยู่ตรงไหน และสภาพแวดล้อมของเราเอื้อให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้เติบโตและสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จได้หรือไม่
เพราะเอไอไม่ใช่เทคโนโลยีสุดท้ายที่เข้ามาก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลง ดูจากในอดีตก็มีทั้งอินเทอร์เน็ต บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีอีกมากมายที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเสมอ ก่อตัวเป็นความไม่แน่นอนที่กระตุ้นให้เราต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
ทำให้ผมนึกย้อนไปในอดีตกว่ายี่สิบปีที่แล้วที่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์เคยถูกตั้งคำถามว่า เขาจะฝากข้อคิดอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้บ้าง เพราะในความเป็นจริงแล้วบิล เกตส์ นั้นเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ซึ่งคำตอบของเขาแม้จะผ่านมาหลายสิบปีแต่ก็ยังคงใช้ได้ดีแม้ในปัจจุบัน
นั่นคือเขายอมรับตัวเองนั้นมีวุฒิการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ตัวเขาเองนั้นเป็น “นักเรียนอาชีพ” คืออาศัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่เคยปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และแสวงหาโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ
วุฒิการศึกษาจึงอาจไม่สำคัญเท่าความสามารถในการเรียนรู้จากโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่เราจะเห็นหลายๆ องค์กรให้ค่ากับความสามารถของคนว่ามีความเชี่ยวชาญด้านใด ไม่ว่าจะเป็น AI, Machine Learning, Data Analytics ฯลฯ และให้ผลตอบแทนตามความสามารถที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงปริญญาบัตรเหมือนในอดีต
ในขณะที่ในบ้านเรานั้นยังคงวนเวียนอยู่กับค่านิยมเก่าๆ ที่พ่อแม่พยายามผลักดันให้ลูกเก่งเรียนหนังสือให้เก่งที่สุด เพื่อความเป็นเลิศในด้านวิชาการให้มากที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่ายิ่งทำคะแนนได้ดีก็ย่อมมีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยเก่าแก่ได้สูงขึ้น
ผลก็คือเด็กไทยกลายเป็นเด็กที่ต้องใช้เวลาเรียนต่อวันสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก เพราะนอกจากต้องเรียนในห้องเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็นแล้ว หลังเลิกเรียนก็ต้องติวเข้มในสารพัดวิชาเพื่อเรียนให้ทันการสอบแข่งขันที่กำลังจะมาถึง
เช่นเดียวกับวันเสาร์-อาทิตย์ที่แทบจะไม่ได้พักผ่อนเพราะต้องเรียนพิเศษอย่างคร่ำเครียด และแม้จะฝ่าด่านเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จก็ยังต้องวางแผนเรียนต่อในระดับปริญญาโท ไปจนถึงปริญญาเอกเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานและแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิต
ระบบการเรียนรู้ของบ้านเราจึงสวนทางกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะเรายังคงเน้นให้เด็กนักเรียนท่องจำ และแข่งขันกันทำข้อสอบยากๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้มากที่สุด
ในขณะที่เด็กๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ หรือพัฒนาตัวเองไปตามความถนัดซึ่งนับเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะนี่คือโอกาสให้เด็กได้รู้จักคิด รู้จักวางแผน ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ยอมรับในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
…ยังมีข้อคิดในเรื่องนี้อีกมากมาย ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ