‘เอ็ตด้า’ เผยโฉมผู้ชนะ Boosting Craft Idea ปี 66
เอ็ตด้า ประกาศผลการแข่งขัน “Boosting Craft Idea” ปี 66 ทีม “ตัวตึง spu” จาก ม.ศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง เล็งต่อยอดไอเดียสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น ผลักดันไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เผยว่า จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) กับกิจกรรม “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย เพื่อสังคม” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางดิจิทัล (Digital Commerce) ไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนของไทย จากการแข่งขันสุดเข้มข้น
ภายใต้โจทย์การแข่งขัน “ธุรกิจออนไลน์..พาชุมชน สร้างคุณค่า สู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ทีม “ตัวตึง spu” จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เจ้าของผลงานเจ้าของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจร ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม “The Winner” จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาแฟเขาวังชิง”ภายใต้แนว “จากต้นสู่แก้ว” รับเงินรางวัล 50,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม “TTU Lanna” จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของแผน TTU Umbrella ร่มล้านนาผ้ามัดย้อมจากใบชา ที่เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนชาและสมุนไพรบ้านเด่นหลวง และวิสาหกิจชุมชนโคมลอยบ้านหนองโค้ง จ.เชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
ปีนี้ 12 ทีมสุดท้ายจากทั่วประเทศที่ผ่านเข้ารอบ Final ประกอบด้วย 1. ทีม TTU Lunna 2. ทีมชบาแก้ว 3. ทีม Nash 4. ทีม Kazue 5. ทีม Focus 6. ทีม 31 7. ทีมตัวตึง SPU 8. ทีมก้าวหน้าก้าวใจ 9. ทีม Youth Power 10. ทีมเด็ก.ชอบ.ชล 11 .ทีม The Winner และ 12. ทีม Baan Saijai
ทั้ง 12 ทีม เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะทางด้าน Digital Commerce มีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ สามารถนำไปต่อยอดให้กับชุมชนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งทางเอ็ตด้ามีแผนผลักดันให้มีการผนวกการดำเนินงานในแนวคิดแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มการต่อยอด ผลักดันให้ทั้งผู้เข้าแข่งขันและชุมชนก้าวไปสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ต่อไป
จากสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตโดยใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือมากขึ้น ได้กลายเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวทั้งการทำงานและการให้บริการปรับเปลี่ยนไปด้วย
ที่ผ่านมา หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นสิ่งสะท้อนว่าในปัจจุบันโมเดลธุรกิจแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์ได้เพียงพอที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอด
“การมีโมเดลธุรกิจที่พาสินค้าและบริการขึ้นไปขายบนโลกออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนให้ความสำคัญโดยเฉพาะสินค้าและบริการในชุมชนที่ต้องการแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงเพื่อสร้างโอกาสและรายได้”
สำหรับเอ็ตด้า ภารกิจที่ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีความสามารถในการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมีคุณภาพ เกิดการสร้างรายได้และโอกาสที่ดี ผ่านการให้ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาทักษะในรูปแบบต่างๆ ครอบคลุมในภาคส่วนสำคัญทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน