สดช.รับลูกดีอีเอสดัน “โก คลาวด์ เฟิร์ส” ปลุกมูลค่าอุตฯดิจิทัลโต 30%
สดช.ร่ายยุทธศาสตร์ปี 67 สนองนโยบายดีอีเอสมุ่งคลาวด์เต็มสูบรับตลาดรัฐกว่า 8 แสนวีเอ็ม เตรียมสร้างราคากลางคลาวด์ 4 ประเภท รอชงเข้าบอร์ดดีอีก่อนเสนอครม.เคาะ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เพิ่มสัดส่วนมูลค่าอุตฯดิจิทัลต่อจีดีพีเป็น 30% ภายในปี 2570
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาลโดยได้รับการมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส คือ นโยบาย โก คลาวด์ เฟิร์ส ด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ให้บริการคลาวด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ไอเน็ต , เอดับบลิวเอส,ไมโครซอฟท์ และ หัวเว่ย เป็นต้น เข้ามาให้บริการคลาวด์
โดยสดช.จะเป็นผู้กำหนดราคากลางของเอกชนกับคลาวด์ 4 ประเภท และความต้องการใช้งานจริงก่อน จากนั้นจะเสนอเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ภาครัฐมีความต้องการใช้คลาวด์อยู่ที่ประมาณ 800,000 วีเอ็ม ทว่าโครงการคลาวด์ภาครัฐยังไม่ตอบโจทย์เรื่องงบประมาณสนับสนุน ทำให้การสร้างคลาวด์ไม่ทันกับความต้องการในการใช้งาน”
สำหรับงบประมาณ 3 ปี (2566-2568) ของโครงการคลาวด์ภาครัฐ ตามแผนงานนั้นต้องให้บริการคลาวด์ภาครัฐ 25,000 วีเอ็ม ต้องใช้งบประมาณปีละ 2,200 ล้านบาท แต่ทางสำนักงบประมาณ จัดสรรให้เพียงครึ่งเดียว หรือประมาณ 1,100 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้งบประมาณจากทางกองทุนดีอีสนับสนุนงบอีก 700 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที
นายภุชพงค์ กล่าวว่า การสำรวจความต้องการใช้งานคลาวด์และการกำหนดราคากลางต้องแบ่งตามประเภทการใช้งานคลาวด์ 4 ประเภท ได้แก่
- คลาวด์เพื่อความมั่นคงของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII)
- คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลภาครัฐและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสร้างบริการต่อประชาชนได้
- คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลแบบสตอเรจ
- คลาวด์สำหรับข้อมูลที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง
นายภุชพงค์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายปี 2567 สดช. มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผ่านการปรับปรุงรูปแบบ การวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเพิ่มความครอบคลุมของนิยามของเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการพยากรณ์มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตผ่านการใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป ภายใต้หลักเศรษฐมิติ เพื่อระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลสอดคล้องตามเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2570
พร้อมกับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยบริการสุขภาพสามารถให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการวินิจฉัย วางแผนการรักษาเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อช่วยให้ยกระดับคุณภาพการให้บริการสุขภาพ
สนับสนุนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ในรูปแบบ Software as a Service อย่างมีมาตรฐาน และมีความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้ เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว