Death Clock เอไอที่บอกได้ว่าคุณจะ ‘ตาย’ ตอนไหน คำนวณจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ใช้เอไอพยากรณ์ความตาย Death Clock แอปพลิเคชันที่สามารถบอกได้ว่าคุณจะ ‘ตุยเย่’ เมื่อไร โดยคำนวณจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต พัฒนาโดย Most Days สตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกา
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทในหลายด้านตั้งแต่การให้ข้อมูลความรู้ การตอบคำถาม การวินิจฉัยโรค การช่วยรักษา ตลอดจน “การพยากรณ์ความตาย” โดยมันสามารถบอกได้ว่า มนุษย์เราจะมีอายุอีกกี่ปี
แอปพลิเคชันดังกล่าวมีชื่อว่า “เดธคล็อก (Death Clock)” พัฒนาโดย เบรนท์ ฟรานสัน (Brent Franson) ผู้ก่อตั้ง Most Days สตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มีชื่อเสียงระดับโลก
มุมมองเชิงสุขภาพและการเงิน
เดธคล็อกจะใช้เอไอวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ แอปจะถามชีวะประวัติ เริ่มตั้งแต่การกิน การออกกำลังกาย สุขภาพจิต เชื้อชาติ พฤติกรรมการนอนหลับ และประวัติทางพันธุกรรม แล้วคำนวณออกมาเป็นอายุขัยที่คาดว่าคุณจะมีชีวิตอยู่
บริษัทกล่าวว่า โมเดลเอไอของตนอ้างอิงสถิติจากงานวิจัยมากกว่า 1,200 ชิ้น ซึ่งรวมถึงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA), มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford), มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) และ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (Berkeley)
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคกล่าวเตือน ทำนองว่า “กินแบบนี้ อีกหน่อยตายเร็วแน่เลย” เอไอจากเดธคล็อกก็มีฟังก์ชันการทำงานใกล้เคียงกัน แต่แทนที่จะบอกว่าคุณตายเร็วแน่ๆ มันกลับบอกว่า ถ้าคุณยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ต่อไป คุณน่าจะอายุได้กี่ปี แต่ถ้าคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กินอาหารดีขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น แอปจะคำนวณใหม่และบอกว่าคุณอาจมีอายุยืนขึ้นได้ แต่ฟีเจอร์นี้จำเป็นต้องจ่ายค่าสมาชิกรายปีประมาณ 40 ดอลลาร์ (ราว 1,369 บาท)
แอปพลิเคชันนี้ไม่เพียงแค่ทำนายอายุขัย แต่ยังทำหน้าที่เสมือนกระจกสะท้อนพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น พฤติกรรมการกิน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาวะโภชนาการ นิสัยการออกกำลังกายที่กระทบต่อระบบเมแทบอลิซึมและความแข็งแรงของร่างกาย สภาวะทางจิตใจที่มีอิทธิพลต่อระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน
ประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว
กรณีของนักข่าว แอนโทนี่ ฮา (Anthony Ha) จาก TechCrunch ป้อนข้อมูลเบื้องต้นของตนเองลงไปในแอป แอปจะทำนายอายุขัยเริ่มแรกที่ 90 ปี แต่เมื่อเขาทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการนอนหลับ พบว่าอายุขัยที่คาดการณ์สูงขึ้นถึง 103 ปี ซึ่งแตกต่างจากการทำนายเบื้องต้นถึง 13 ปี นี่แสดงให้เห็นว่า แอปไม่เพียงทำนายอายุ แต่ยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ปรับพฤติกรรมสุขภาพ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ใช้หลายรายที่นำเดธคล็อกมาคำนวนการวางแผนทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เพราะสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างใกล้เคียง การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพจะมีความแม่นยำในการเลือกวงเงินและระยะเวลาคุ้มครอง การจัดสรรทรัพย์สินและมรดกสามารถวางแผนได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
ไรอัน ซาบราวสกี้ (Ryan Zabrowski) นักวางแผนทางการเงิน กล่าวกับนิตยสาร Forbes ว่า ความกังวลหลักของผู้สูงอายุคือการใช้เงินหมดก่อนตาย ดังนั้น การมีเครื่องมือที่สามารถคาดการณ์อายุขัยได้อย่างใกล้เคียงจะช่วยให้การวางแผนทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จุดที่ต้องระวัง
การป้อนข้อมูลส่วนตัวของคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวัง สำหรับประเทศไทยยังไม่รองรับให้ดาวน์โหลดมาใช้งาน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แอปนี้ก็กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก โดยมียอดดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 125,000 ครั้ง
ด้านผู้พัฒนาย้ำว่า จุดประสงค์ของแอปไม่ใช่การสร้างความหวาดกลัวเกี่ยวกับความตาย แต่ต้องการกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ และวางแผนชีวิตอย่างมีคุณภาพ
อ้างอิง: Bloomberg The Economic Times และ Make use of