‘ฟิลเลอร์ –สกินบูสเตอร์’ ยิ่งจิ้ม ยิ่งเสี่ยง ‘ใบหน้าประหลาดผิดรูป’
กระหน่ำฉีด “ฟิลเลอร์ –สกินบูสเตอร์” ฉีดไม่ถูกที่ ฉีดไม่ถูกจุด เกิดโอเวอร์ฟิลล์ จนใบหน้าประหลาดผิดรูป เจอฟิลเลอร์หมอเถื่อนหลุดเข้าหลอดเลือด แนะฉีดอย่างเหมาะสมแต่ละคน ดูกายวิภาคทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติ
KEY
POINTS
- คาดมูลค่าตลาดเสริมความงามของไทยปี 70 มูลค่า 7.51 พันล้านดอลลาร์ มุ่งเป้าขับเคลื่อนเวชกรรรมความงามไทยสู่นานาชาติ ตอบรับเมดิคัลฮับ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
- สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ เผยปัญหาเสริมความงาม คนนิยมฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ สกินบู๊สเตอร์ จนโอเวอร์ฟิล ฉีดไม่หยุด เกิดใบหน้าประหลาดผิดรูป บางรายเจอหลุดเข้าหลอดเลือด
- แพทย์แนะวิธีเสริมความงาม ฉีดสารเติมเต็มต้องให้เหมาะสมกับเฉพาะบุคคล กายวิภาคแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่กระหน่ำฉีด ฉีดตามเทรนด์
ตามแนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(เมดิคัลฮับ) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก ซึ่งกำลังการศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเวชกรรรมความงามของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคลินิกเสริมความงาม 7,000 แห่ง ในกทม. 2,000 แห่ง และภูมิภาค 5,000 แห่ง
มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทย ใน 2570 มูลค่า 7.51 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า
มีจุดเด่น คือ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับ และรู้จัก ในวงกว้าง ,มีเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริการที่หลากหลาย และอัตราค่าบริการสมเหตุสมผล
ขณะเดียวกันคนไทยก็มีความใส่ใจในสุขภาพและการเสริมความงามเพิ่มมากขึ้นทั้งชายและหญิง ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเสริมความงามจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผู้ที่รับบริการได้ประโยชน์ ไม่ส่งผลกระทบในทางลบ
อย่างกรณีของการฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ ซึ่งได้รับความนิยมมาก โดยจัดเป็นสารเติมเต็มที่มีหลายแบบ หลายยี่ห้อ มีความบริสุทธิ์แตกต่างกัน รวมถึง นิยมการฉีดสารกระตุ้น สกินบู๊สเตอร์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
ฉีดฟิลเลอร์จนโอเวอร์ฟิลล์ ใบหน้าประหลาด ผิดรูป
ในการแถลงข่าวจัดกิจกรรม "Master of Complication หัตถการความงาม” จัดโดยสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ (Thai Society of Cosmetic Dermatology and Surgery) เมื่อเร็วนี้ๆ
พญ.อัจจิมา สุวรรณจินดา กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ กล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับการทำหัตถการความงามว่า สารเหล่านี้จะช่วยเติมเต็ม แก้ปัญหาผิวหย่อนยาน ปรับรูปหน้า แต่ก็เป็นสารแปลกปลอม จึงต้องการความคล้ายคลึงธรรมชาติของร่างกายที่สุด และต้องฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
อาทิ ผิวหนังตาย ตาบอด ติดเชื้อ เกิดก้อนแข็งนูนใต้ผิวหนัง ไปจนถึงเกิดปฏิกิริยาทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการผิดปกติได้ รวมถึง ปัจจุบันมีความนิยมฉีดสารกระตุ้น สกินบู๊สเตอร์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
“ตอนนี้พบปัญหา คนไข้ฉีดฟิลเลอร์แล้วโอเวอร์ฟิลล์ คือฉีดเยอะไม่หยุด ฉีดไปเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่า ฉีดฟิลเลอร์เท่ากับสวย ซึ่งความจริงแล้ว การฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณมากเกินไป ฉีดไม่ถูกที่ ฉีดไม่ถูกจุดก็จะเกิดปัญหาโอเวอร์ฟิลด์ ฉีดแล้วหน้าประหลาด หน้าเปลี่ยน ผิดรูป เบี้ยว ไม่เท่ากัน ซึ่งสกินบูสเตอร์ก็เกิดปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นไปทั่วโลก”พญ.อัจจิมากล่าว
ฟิลเลอร์ต้องฉีดอย่างเหมาะสมแต่ละคน
สิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันทำให้วงการความงามของไทยมีมาตรฐาน และลดสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป พญ.อัจจิมา กล่าวว่า ในการฉีด แพทย์จึงต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม เหมาะกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ฉีดจนมากเกินไป ฉีดถี่เกินไป ฉีดไม่หยุด ไม่ฉีดตามเทรนด์ ซึ่งการฉีดที่ไม่ทำให้เกิดโอเวอร์ฟิล คือการฉีดตามกายวิภาคของแต่ละคน ทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติ เพราะใบหน้าแต่ละคนแตกต่างกัน ปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น แพทย์ไม่ควรจะฉีดทุกคนเหมือนกัน ควรเป็นการดูแลปัญหาเฉพาะคน มีปัญหาบกพร่องตรงไหน ก็แก้ตรงนั้น ไม่ใช่ฉีดทุกคนเหมือนกัน ซึ่งการศึกษากายวิภาคศาสตร์จึงจำเป็น ความรู้ของแพทย์จำเป็นมากเพื่อวินิจฉัยถูกต้องก่อนฉีด จะได้ฉีดถูกไม่ล้นเกินไป
ฟิลเลอร์หมอเถื่อน หลุดเข้าหลอดเลือด
ขณะที่ รศ.พิเศษ พญ.วิไล ธนสารอักษร กรรมการและประชาสัมพันธ์สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ กล่าวว่า ตามการรักษาที่มากขึ้นทั้งจำนวนผู้รักษา และความหลากหลายของหัตถการ ทำให้เกิดกรณีศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงทางการรักษา เช่น ภาวะการอุดตันของเส้นเลือด การสูญเสียการมองเห็น การติดเชื้อหลังการรักษาด้วยสารเติมเต็ม การเกิดภาวะผิวไหม้ แผลเป็น จากการรักษาด้วยเลเซอร์ คลื่นเสียง และคลื่นวิทยุ รวมถึง ภาวะหน้าผิดรูป การติดเชื้อ และผลข้างเคียงอื่น ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจและความพิการ จนถึงอาจอันตรายถึงชีวิตได้
จากข้อมูลของรพ.รามาธิบดี ซึ่งมีเซ็นเตอร์รับคนไข้ พบว่าคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องในรอบ 12 เดือนก่อนหน้านี้กว่า 60 ราย ที่ฉีดฟิลเลอร์จากคนที่ไม่ใช่แพทย์ ทำให้เกิดปัญหาฟิลเลอรหลุดเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ทำให้เกิดตาบอด ถ้าไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ อุดตันเส้นเลือดสมองกลายเป็นสโตรก และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ แต่ที่รายงานเข้ามานยังไม่มีกรณีเสียชีวิต
ตรวจสอบแพทย์-ผลิตภัณฑ์ก่อนรับบริการ
“ขอเตือนประชาชนว่า การรับบริการความงาม ต้องตรวจสอบว่าแพทย์ผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจริงหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของแพทยสภา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตรวจสอบสถานพยาบาลว่าขึ้นทะเบียนหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)”รศ.พิเศษ พญ.วิไลกล่าว
ด้าน นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล กรรมการสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ กล่าวว่า การโฆษณา ต้องเป็นข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ ทำให้การเสริมความงามของไทยมีมาตรฐานช่วยกันลดส่วนที่ทำไม่ได้มาตรฐานออกไป ซึ่งความไม่ได้มาตรฐานนั้นเป็นสิ่งที่อยู่นอกระบบ ทำให้มีการเก็บสถิติได้ยาก ดังนั้น การแก้ปัญหาคือการสร้างองค์ความรู้ การตระหนักรู้ที่ถูกต้อง
“วันนี้ประชาชนส่วนมากยังเข้าใจว่าความงามเป็นเรื่องผิวเผิน มองเป็นเรื่องเล่นๆ สั่งสารอะไรต่างๆ มาฉีดกันเองบ้าง ให้เพื่อนฉีดให้บ้าง มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน แล้วแพทย์ก็ต้องแก้ปัญหาให้กันทุกเวลา”นพ.สมิทธิ์กล่าว