เปิดมุมมอง ‘กูรูไอที’ รับมือ จุดเปลี่ยน ‘ดิจิทัล ดิสรัปชั่น’
เทคโนโลยีจำนวนมากที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ส่งผลให้หลากหลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ซึ่งหากธุรกิจหรือองค์กรใดรับมือไม่ทัน อาจต้องเผชิญกับวิกฤติ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดมุมมองในรายการ open talk โดย OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ในเครือที.ซี.ซี. เทคโนโลยี ว่า ท่ามกลางคลื่นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก หน้าที่ของเรา คือ ต้องช่วยกันลดช่องว่างและปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลอย่างจริงจังมากขึ้น
ท้ายที่สุด หวังว่าจะได้เห็นคนไทยมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ พร้อมนำเทคโนโลยีมาต่อยอด “อย่าหยุดเรียนรู้ แล้วเราจะอยู่รอดในอนาคต”
สำหรับการนำไปใช้ ควรมีวิจารณญาณ มีการศึกษาค้นคว้า รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ถูก “Disrupt” ขณะเดียวกันวางแผนกลยุทธ์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการการเรียนรู้ในยุค “Digital Disruption” ประสบความสำเร็จและไปสู่เป้าประสงค์ที่วางไว้
ไม่มีเซ็กเตอร์ไหนปลอดภัย
ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นยุคของ “Mobile First” ที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และหลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่ทำเมื่อตื่นนอนตอนเช้าคือการหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมา
จะเห็นได้ว่า มีการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในการทำกิจวัตรประจำวันอย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้องค์กรและธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว พัฒนาศักยภาพให้สามารถก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า “ไม่มี Sector ไหนปลอดภัยจาก Disruption ได้เลย”
ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาคธุรกิจล้วนอยากมี “Super App” เป็นของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลากหลายธุรกิจเริ่มมีการเร่งเครื่องปรับตัวและพยายามเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเอง ให้สามารถเป็นมากกว่าแค่แอปที่ทำงานแค่วัตถุประสงค์เดียว
แต่เป็นแอปอเนกประสงค์ ที่รวบรวมบริการหลายอย่างไว้ในแอปเดียวกัน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค
‘Super App’ คือทางออก
สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธานกรรมการกสิกร บิซิเนส กรุ๊ป (KTBG), อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้ก่อตั้งและซีอีโอคนแรกของ Settrade.com กล่าวว่า สิ่งที่หวังให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดยคนไทย และสร้างชื่อให้เมืองไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
โดยจะต้องเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดที่มีบริการหลากหลาย สามารถ Scale up เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้ในอนาคต
ดังนั้นดูเหมือนว่า Super App จะเป็นทางออกสำหรับหลายธุรกิจที่กำลังต้องการขยายตัว เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเป็นวงกว้าง รวมถึงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าในอดีตอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Super App นั้นไม่ใช่ใครก็สามารถสร้างได้ และไม่ใช่อะไรที่สามารถทำได้ในเพียงไม่กี่วัน การที่จะประสบความสำเร็จนั้นมีหลายปัจจัย
นอกเหนือจากองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบ ยังหมายรวมไปถึงความรวดเร็วในการคิด พัฒนา ทดลอง และต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหวัง ซึ่งยังเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจต้องการและขาดหายในยุคที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว
ยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
การมาถึงของ Digital Disruption นับว่าเป็น "วิกฤติ” ที่ต้องเปลี่ยนให้เป็น "โอกาส" ซึ่งการถูก Disrupt นี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างเต็มที่ได้ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือบางอย่างมาใช้ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
ถึงแม้ว่าการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวธุรกิจนั้น จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา Digital Disruption ที่ตรงจุดและควรทำมากที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะสามารถทำได้เหมือนกันหมด
บางองค์กรอาจต้องเผชิญเข้ากับปัญหาหรือข้อจำกัดบางอย่างเช่นในเรื่องค่าใช้จ่าย ความรู้ความเข้าใจที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นเพื่อให้การปรับตัวเกิดความลื่นไหล สามารถทำงานต่อได้ แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจต้องไม่ลืมวางรากฐานเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก