หมัดต่อหมัด! ส่อง ‘สมาร์ทโฟนจีน’ vs ‘iPhone’ ใครมีดีอะไร ถึงครองใจแฟนคลับ?
วิเคราะห์จุดแข็งระดับ Killer ของแบรนด์สมาร์ทโฟนสองสัญชาติระหว่างสารพัด “สมาร์ทโฟนจีน” กับ “iPhone” จากสหรัฐอเมริกา ศึกใหญ่ที่สาวกทั้งสองฝั่งยังไม่มีใครยอมใคร
ถึงตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะปรับตัวลดลงราว 8 เปอร์เซ็นต์ จากอุปสงค์ที่ต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส แม้ตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ก็ยังมียอดขาย iPhone ในแดนมังกรในระดับที่ไม่ดีนัก
พอๆ กับ สมาร์ทโฟนจีน ที่ยอดตกเช่นกัน ทว่าในตัวเลขยอดขายลดลงสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนกลับมีส่วนแบ่งการตลาดแซง iPhone
โดยพระเอกของ "สมาร์ทโฟนจีน" ในไตรมาสนี้ไม่ใช่ใคร แต่เป็น HUAWEI หนึ่งในพญามังกรด้านไอทีของจีน ที่ต้องยอมรับว่าไตรมาสนี้ การเปิดตัว HUAWEI Mate 60 Pro คือการเปิดหน้าท้ารบกับ "iPhone" แม้จะต้องเผชิญการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา แต่ HUAWEI รวมถึง "สมาร์ทโฟนจีน" แบรนด์อื่นๆ ก็ยังพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง
KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที จะพาไปดูว่าอะไรคือจุดแข็งของสมาร์ทโฟนจีน แล้วอะไรคือไม้ตายของ iPhone ที่ทำให้สาวกยกหัวใจให้แบรนด์ที่ตัวเองรักแบบหัวปักหัวปำ
เขี้ยวเล็บพญามังกร
เรื่องแรกที่น่าจะทำให้ "สมาร์ทโฟนจีน" กล้าท้าชนทุกแบรนด์ทั่วโลก คือการพัฒนาเทคโนโลยีได้ล้ำสมัยไม่แพ้ใคร
ชิป 7 นาโนเมตร ของ "HUAWEI Mate 60 Pro" คือเครื่องยืนยันถึงการก้าวล้ำทางเทคโนโลยีแบบไม่ง้อชาติตะวันตก เพราะถึงจะมีการคว่ำบาตรจนเกิดการกีดกันทางเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งตอนนั้นเทคโนโลยีชิปของจีนควรจะจำกัดอยู่แค่ 14 นาโนเมตร จนกระทั่งล่าสุด HUAWEI ได้เขย่าวงการชิปและสมาร์ทโฟนด้วยการผลิตชิป 7 นาโนเมตรใส่มาใน Mate 60 Pro หน้าตาเฉย
เรื่องการพัฒนาสมาร์ทโฟนของแบรนด์จีน ไม่ใช่เพียง HUAWEI เท่านั้น แต่การพัฒนาแบบพี่จีนคือการเล่นใหญ่ ทุกค่ายมีอาณาจักรของตัวเองในการวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่าง HONOR อดีตแบรนด์ลูกของ HUAWEI ที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่บริษัท HONOR ระดมสรรพกำลังกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมดเพื่องานด้าน R&D และมีศูนย์ R&D ขนาดใหญ่ถึง 6 แห่งในจีน จนไต่เต้ามาเป็นหนึ่งในแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ขยายฐานลูกค้าไปได้กว่า 180 ล้านคนใน 100 กว่าประเทศ
ราคาและความคุ้มค่า เป็นอีกเขี้ยวเล็บของแบรนด์ "สมาร์ทโฟนจีน" เมื่อเทียบกับ "iPhone" ก็อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า iPhone เป็นสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมียมที่แม้จะเป็นรุ่นเริ่มต้นก็ยังถือว่าแพง ในขณะที่สมาร์ทโฟนจีนมีหลากหลายระดับราคารวมถึงสเปคด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะเป็นรุ่นเรือธงก็มักจะทำราคาได้น่าสนใจ
เมื่อบวกกับสเปคที่ให้มา สมาร์ทโฟนจีนหลายรุ่นถูกสร้างมาให้สมดุลระหว่างราคาและฟีเจอร์ เช่น OnePlus Nord 2T 5G ที่ครบเครื่องทั้งชิปเซ็ตMediatek ล่าสุดอย่าง Dimensity 1300 และเสริมด้วย RAM ขนาด 8GB หรือ 12GB ทำให้ Nord 2T เหนือกว่าคู่แข่งส่วนมากในเรื่องประสิทธิภาพ
สำหรับเหตุผลของการทำราคา "สมาร์ทโฟนจีน" ให้ถูกลงได้มีอยู่หลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนค่าแรงค่อนข้างต่ำ การผลิตภายในประเทศ และการที่หลายแบรนด์เน้นขายออนไลน์มากกว่าการมีหน้าร้าน ต้นทุนจึงลดลงตามธรรมชาติ นอกจากนี้การตลาดของสมาร์ทโฟนจีนยังถือว่าใช้น้อย ลองคิดดูว่าเคยเห็นโฆษณาสมาร์ทโฟนจีนอย่าง Xiaomi บนทีวีครั้งล่าสุดเมื่อไร
ถึงแม้สมาร์ทโฟนจีนจะลดต้นทุนได้มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์จะด้อยคุณภาพเพราะสมาร์ทโฟนจีนมักจะใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและยิ่งใหญ่ที่สุด แถมบางครั้งยังเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ด้วย เหมือนกับตอนที่เครื่องสแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอเครื่องแรกปรากฏตัวในสมาร์ทโฟน Vivo หรือ ZTE เป็นบริษัทแรกที่ทำกล้องเซลฟี่ในหน้าจอ เป็นต้น
ไม้ตายของ iPhone
พอขึ้นชื่อว่ามีสาวกหรือแฟนคลับตัวยง ไม่ว่าจะทำอะไรออกมาดีมากดีน้อยก็ย่อมมีกลุ่มคนซัพพอร์ต เหมือนอย่าง "iPhone" ที่ไม่ว่าจะออกมากี่รุ่นก็ได้การตอบรับอย่างดีจากแฟนทั่วโลก แน่นอนว่าสิ่งที่ Apple เลิศมาตลอดคือการตลาด
แม้กระทั่งในเว็บไซต์ของ Apple เองก็ยังระบุถึงเรื่องการตลาดของแบรนด์เอาไว้ว่า...
“การตลาดผลิตภัณฑ์ บุคลากรในทีมนี้คือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและตลาดที่ตนเองรับผิดชอบอย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะว่าพวกเขาต้องดูแลทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การวางแนวคิดไปจนกระทั่งการพัฒนาและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ มาร่วมทีมนี้ แล้วจัดการกับกระบวนการสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ เช่น iPhone, macOS และ iTunes ซึ่งคุณจะได้ร่วมงานกับทีมต่างๆ มากมายที่อาจรวมถึงทีมออกแบบ วิศวกรรม กฎหมาย การเงิน การขาย การสื่อสารการตลาด และทีมสนับสนุนอีกด้วย สาขางานประกอบไปด้วย การตลาดผลิตภัณฑ์ การจัดการผลิตภัณฑ์ การตลาดนักพัฒนา การตลาดแอพ และการตลาดธุรกิจ”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสื่อสารการตลาดที่ระบุว่า “ทีมนี้จะบรรจงเขียนข้อความเพื่อให้โลกรู้จักผลิตภัณฑ์และบริการของเราในลักษณะที่สะท้อนถึงตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือ ความเรียบง่าย สวยงาม และมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร สาขางานประกอบไปด้วยกราฟิกดีไซน์ การเขียนข้อความโฆษณา ประสบการณ์ผู้ใช้ การจัดการเนื้อหา การผลิต การปฏิบัติงานสร้างสรรค์ การวิจัยและการวิเคราะห์ การโฆษณา โซเชียลมีเดีย การจัดแสดงสินค้า วิดีโอและโมชั่นกราฟิก รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์”
และการสื่อสารองค์กรที่ Apple ระบุว่า “ทีมสื่อสารทั่วโลกนี้จะให้ข้อมูลผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับ Apple ผลิตภัณฑ์และบริการล้ำสมัยของเรา และคุณค่าที่เป็นแรงผลักดันบริษัท สาขางานประกอบไปด้วยประชาสัมพันธ์ กิจกรรมองค์กร การสื่อสารสำหรับพนักงาน และการตลาดแบบบอกต่อ”
แต่ถึง "iPhone" จะโดดเด่นเรื่องการตลาดมากแค่ไหน เรื่องเสน่ห์และฟีเจอร์ของตัวผลิตภัณฑ์ก็ไม่แพ้กัน สิ่งหนึ่งที่ "Apple" ทำได้ดีมากคือการสร้างสินค้าให้ดูน่าหลงใหลและตรงใจลูกค้า ซึ่งนั่นผ่านการวิจัยอย่างละเอียดว่าลูกค้าต้องการอะไรและอยากรับสารแบบไหนจาก Apple
นอกจากนี้ Ecosystem ของ Apple ยังเป็นอีกหนึ่งไม้ตายที่ทำให้ผู้ใช้ iPhone และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Apple หนีไปไหนไม่รอด ต้องกลับมาตายรังทุกที เพราะความสะดวก ง่ายดาย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อผู้ใช้มากๆ ของ Ecosystem ยิ่งทำให้ใครที่หลงเข้ามาใช้ iPhone แล้วแทบจะถอนตัวไม่ขึ้น
สำหรับเรื่องราคา ถึงจะตรงกันข้ามกับ "สมาร์ทโฟนจีน" ที่ราคา "iPhone" ถือว่าแพงกว่าเมื่อเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ แต่นี่คือเรื่องที่ Apple ตั้งใจ เพราะการตั้งราคา iPhone จะไม่อิงกับคู่แข่ง ทว่าใช้วิธีตั้งราคาสูงไปเลยเพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาว่าการที่ iPhone ราคาแพงกว่าแบรนด์อื่นเพราะหรูหรากว่า คุณภาพดีกว่า และ Apple จะไม่ใช้วิธีลดราคา iPhone เพื่อสู้สงครามราคากับแบรนด์อื่นๆ นั่นยิ่งทำให้ ภาพลักษณ์ของ iPhone ดูพรีเมียมกว่าคู่แข่งมาก