วันนี้มีผล! “ดีอี” สั่งระงับเบอร์โทรออก 100 สายต่อวันอ้างเข้าข่ายมิจฉาชีพ

วันนี้มีผล! “ดีอี” สั่งระงับเบอร์โทรออก 100 สายต่อวันอ้างเข้าข่ายมิจฉาชีพ

’ดีอี‘ เล่นใหญ่ออกคำสั่งเข้ม ผนึกกสทช. สั่งค่ายมือถือบล็อกเบอร์ที่มีการโทรเข้า-ออก 100 ครั้งต่อวัน อ้างส่อกระทำการผิดกฎหมาย-มีพฤติการณ์น่าสงสัย

วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการเลขาธิการ กสทช., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วย ผู้บริหารเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นที่ทราบกันดีว่าพี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนจากการถูกหลอกและโกงจากภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของความทุกข์ร้อนของคนในประเทศ โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องขจัดภัยร้ายนี้ให้ออกจากสังคมไทย เพราะทุกๆ ที่ที่ไปเยี่ยมเยียนประชาชน มีการร้องทุกข์อย่างมาก จึงมีข้อสั่งการให้รัฐบาล ดำเนินขจัดภัยนี้อย่างเร่งด่วน ด้วยรู้ว่าภัยนี้เป็นภัยระดับชาติที่ทั้งโลกกำลังประสบปัญหา โดยศัตรูซ่อนอยู่ในที่ที่เรามองไม่เห็น โดยให้กระทรวงดีอี สำนักงานสตำรวจแห่งชาติ และ สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการขจัดภัยร้ายนี้ เพื่อนำความมั่นใจของประชาชนต่อระบบไซเบอร์ของประเทศกลับคืนมา พร้อมทั้งได้ประชุมกับกสทช. อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

ด้าน นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 'ดีอี' กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบหมายให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องหลอกลวงออนไลน์ และข้อมูลจากศูนย์ AOC ใน เดือน 1 เดือน (1-30 พย 66) ได้มีการรับแจ้งเข้ามาที่ศูนย์กว่า 80,000 สาย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก เราจึงต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการจัดการเรื่องนี้และได้ดำเนินการร่วมกับ กสทช. และ โอเปอเรเตอร์ เพื่อจัดการผู้ต้องสงสัยผู้เข้าข่ายหลอกลวง โดยพุ่งเป้าไปที่เบอร์โทรที่โทรออกมากผิดปกติต่อวัน

เช่น 100 ครั้งต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่น่าสงสัย โดยได้ตรวจเจอว่า ตั้งแต่วัน 9 ถึง 11 ธันวาคม ทั้งสิ้น 12,500 เบอร์ และจะทำการพักใช้ทุกเบอร์ทันทีในวันนี้ รวมทั้งจะมีการประชุมยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อให้เป็นการทำงานเชิงรุก อีกตัวอย่างคือ ตอนนี้มี 6 ล้านเลขหมายที่ขึ้นทะเบียนแบบไม่ถูกต้องเข้าข่ายผิดกฎหมาย และอยากเร่งรัดผู้ถือครองซิมมายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน หากไม่มาดำเนินการเราจะระงับการโทรออก และให้รับสายได้อย่างเดียว

สำหรับสาเหตุและการใช้งานซิมโทรศัพท์ที่เป็นเหตุของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่า ซิมม้าหรือซิมที่คนร้าย หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในหลอกลวงประชาชนทางออนไลน์ พบพฤติกรรมที่ต้องสงสัยในการใช้งานเพื่อเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงสร้างปัญหากับประชาชนเป็นอย่างมาก 

กล่าวคือ ซิมโทรศัพท์หนึ่งเบอร์ ใช้โทรออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และยังขาดการป้องกันที่ดีพอ หรือ พบการลงทะเบียนหรือชื่อผู้ใช้งานที่ถือครองซิมเป็นหลายร้อยเลขหมาย ที่ยังไม่ได้ยืนยันแสดงตัวตนให้ถูกต้อง อาจเป็นช่องทางของผู้ร้ายในการใช้ซิมม้าในการก่ออาชญากรรม

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้บัตรประจำตัวชาวต่างด้าวมาลงทะเบียนซิมการ์ดเปิดใช้งานและขายให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้โจรใช้ในการหลอกลวงประชาชน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจับกุม ครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ อาทิ ที่ แม่สอด จังหวัดตาก พร้อมของกลางซิมพร้อมใช้งาน 4,379 หมายเลข และ ที่ชุมพร พบของกลางกว่า 10,000 หมายเลข   

และ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช., พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมาย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมพร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหารือเพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์

โดยมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1. มอบหมายผู้รับใบอนุญาตตรวจสอบข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการประเภทบุคคลธรรมดาแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (Prepaid) ที่มีการโทรออกตั้งแต่ 100 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ในช่วงวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2566 และรายงานจำนวนผู้ใช้บริการที่มีการใช้งานในลักษณะดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ทางอีเมล [email protected]

2. ให้ผู้รับใบอนุญาตศึกษาทางเทคนิคเพื่อหาวิธีเก็บข้อมูลการโทรออกโดยให้รวมถึงการโทรที่ไม่สำเร็จ (โทรออกแต่ไม่มีผู้รับสาย)

3. ให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาการจัดทำทะเบียน White list ผู้ใช้บริการทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่อาจมีการโทรออกตั้งแต่ 100 ครั้งขึ้นไปต่อวันแต่มิได้ใช้ในการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (เช่น ตัวแทนจำหน่ายประกัน หรือ Call Center ของหน่วยงานต่างๆ ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป)

4. กรณี ศูนย์ AOC ตรวจสอบพบว่า หมายเลขโทรศัพท์ใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” (Tier 1) ให้ศูนย์ AOC แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการยกเลิกการให้บริการได้โดยทันที และผู้รับใบอนุญาตจะต้องการขยายผลการตรวจสอบเลขหมายอื่นของผู้ใช้บริการรายดังกล่าว (Tier 2) รวมทั้งแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นทราบและตรวจสอบด้วย โดยผู้รับใบอนุญาตจะระงับการให้บริการเลขหมาย Tier 2 เพื่อให้ผู้ใช้บริการมารายงานตน

5. กรณีเลขหมายที่อาจเข้าข่ายว่ากระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ AOC จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้รับใบอนุญาตส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพิจารณาการกระทำความผิด ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ตรวจสอบเส้นทางทราฟฟิกกรณีมีการใช้หมายเลขปลอม