จับตาสมรภูมิ ‘ขนส่งพัสดุ ’ แข่งเดือด ‘รายใหญ่’ เร่งปรับแผนสกัดขาดทุน
การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท SF Holding บริษัทแม่ของ SF Express ยักษ์ขนส่งจากจีน น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า สมรภูมิขนส่งพัสดุในไทยจากนี้คงแข่งขันกันดุเดือดแน่นอน
“ธุรกิจขนส่งพัสดุ” เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นช่องทางการกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้เร็ว โดยได้อานิสงส์จากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซการค้าปลีกและค้าส่งที่เติบโตสูง รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเกือบทุกด้าน
“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย กล่าวว่า ธุรกิจขนส่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโต กระแสบริโภคนิยมที่ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงแบรนด์ขนส่งพัสดุในไทยที่มีจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดขนส่งพัสดุในไทยกำลังแข่งขันอย่างดุเดือดและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อพิจารณาจากกำไรขาดทุนของธุรกิจขนส่งในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าแทบทุกรายขาดทุนหนักหน่วง ที่ขาดทุนหนักหน่วงขนาดนี้เพราะธุรกิจมีการแข่งขันสูง มีการตัดราคาและลดราคาเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ แต่ต้องยกเว้นให้กับเจ้าที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำเป็นปลายน้ำ (Full Service E-Commerce)
ตัวอย่างเช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า รวมไปถึง J&T (ผู้ให้บริการขนส่งของ TikTok) ผู้ให้บริการกลุ่มนี้ จะได้เปรียบกว่าบริษัทที่มีแต่บริการขนส่งเท่านั้น เพราะในกลุ่มบริษัทนี้จะมีบริการตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างการขายสินค้าผ่านช่องทางที่มาจากอี-มาร์เก็ตเพลส ของตัวเอง ทำให้บริษัทกลุ่มนี้มีสามารถควบคุมทุกรายการที่มีการสั่งซื้อและส่งต่อไปยังปลายน้ำ คือส่งต่อให้บริษัทขนส่งภายในของตัวเองได้ ทำให้มีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทขนส่งปกติทั่วไป
"จึงเห็นได้ชัดว่าบริษัทในกลุ่ม Full Service E-Commerce นี้ สามารถสร้างกำไรและความได้เปรียบสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนส่งเพียงอย่างเดียว"
ก่อนหน้านี้ ไปรษณีย์ไทย เปิดรายได้ครึ่งปีแรก 2566 มีกำไร 158 ล้านบาท จากรายได้ 10,833.31 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 12.67% รายได้หลักมาจากกลุ่มขนส่ง และโลจิสติกส์กว่า 44.1%
ขณะที่ ข้อมูลจาก Creden data https://data.creden.co/ ระบุรายได้ของบริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่เมื่อสิ้นปี 2565 ไปรษณีย์ไทย มีรายได้ 19,546 ล้านบาท กำไรติดลบ 3,018 ล้านบาท ตามมาด้วยบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ 17,162 ล้านบาท กำไร ติดลบ 3,083 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส3 ปี 2566 เคอรี่ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 มีรายได้ราว 2,897 ล้านบาท ขณะที่บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด รายได้ทั้งปี 65 อยู่ที่ 14,805 ล้านบาท กำไรติดลบ 2,186 ล้านบาท
หากดูตัวเลขย้อนหลังช่วง 2-3 ปีก่อน พบว่า ตลาดขนส่งพัสดุในไทยขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี ในปี 2563 มีมูลค่าราว 6.6 หมื่นล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 9.1 หมื่นล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 10.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าที่เติบโตขึ้นนี้มาจากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มมากขึ้น
“ธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจที่แข่งขันดุเดือดมายาวนาน สงครามราคาและการแย่งชิงฐานลูกค้ายังไม่จบลงง่าย ๆ กลยุทธ์ของการแข่งขันของบริษัทขนส่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความรวดเร็ว ราคา และจำนวนจุดให้บริการ” ภาวุธ กล่าว
ส่องกลยุทธ์ไปรษณีย์ไทย
“รัฐพล ภักดีภูมิ” ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ ยังคงแข่งขันด้านราคาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคุณภาพและความรวดเร็วการให้บริการของผู้ประกอบการแต่ละรายในตลาด ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงจากตลาดที่แข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง คณะกรรมการไปรษณีย์ไทย จึงเน้นแผนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการในปัจจุบัน อาศัยจุดแข็งและบริการที่มากกว่าการจัดส่งสิ่งของ/สินค้าไปยังปลายทาง รวมถึงนำจุดเด่นของเครือข่ายไปรษณีย์ ทั้งในส่วนของ Physical Network เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ระบบการขนส่งไปรษณีย์ หรือศูนย์คัดแยกไปรษณีย์ เป็นต้น และ Human Network เช่น พนักงานรับฝาก บุรุษไปรษณีย์ ที่เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายไปรษณีย์ทั่วโลกได้ โดยเฉพาะมุ่งเน้นความเป็น Top of Mind ที่คนไทยจะนึกถึง
ทั้งนี้ เป้าหมายของไปรษณีย์ไทย ยังเน้นพัฒนาทุกกลุ่มธุรกิจที่เป็นบริการดั้งเดิมให้แตกต่าง สามารถเติบโตไปสู่ New S-Curve ได้ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มบริการระหว่างประเทศ กลุ่มบริการค้าปลีก กลุ่มบริการการเงิน และกลุ่มบริการอื่นๆ เช่น ธุรกิจที่ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยการผสาน “เทคโนโลยี” และ “คุณภาพ”
เคอรี่ ยืนแผน Tech Logistics
ขณะที่ “วราวุธ นาถประดิษฐ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ เคอรี่ กล่าวว่า เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ยังคงมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็น Tech Logistics ขับเคลื่อนทุกการจัดส่งพัสดุด่วนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “Kerry Fast Tech” เสริมทัพด้วยนวัตกรรมสุดล้ำสมัยทั้ง Smart Sorting และ Digital Mapping ซึ่งได้นำไปใช้ที่ศูนย์คัดแยก กระจายสินค้า Kerry Express Bangna Logistics Centre หรือ KBLC
นวัตกรรมนี้ สามารถคัดแยกพัสดุเพื่อจำแนกออกไปตามแต่ละพื้นที่ หรือโซนของที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม เมื่อเทียบจากเดิมแล้ว เครื่องนี้ยังช่วยให้ความสามารถในการคัดแยกพัสดุมีประสิทธิภาพการทำงานรวดเร็วกว่าเดิมถึง 3 เท่า นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจาก Human Error ได้