เจาะลึก Digital 2024 วิเคราะห์พฤติกรรมออนไลน์คนไทย เทียบเทรนด์ทั่วโลก
We are social ออกรายงาน “Digital 2024 Global Overview” สรุปสถิติใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาและบริการดิจิทัล พฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับไทยหลายประการ
We are social ได้ออกรายงาน “Digital 2024 Global Overview” ซึ่งสรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาและบริการดิจิทัล พฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยหลายประการ
ข้อมูลปีนี้ที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้เพิ่มอีก 1.8% เป็นจำนวน 5,347 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเพิ่มขึ้นอีก 84,000 คน เป็น 63.21 ล้านคนหรือ 88% ของประชากร โดยมีอัตราการเติบโตเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ยังมีคนไทยอีกราว 8.64 ล้านคน หรือ 12% ของประชากรที่ยังไม่ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเลย
ในขณะที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยผ่านมือถือเพิ่มขึ้น 7.5% เป็น 40.69 Mbps และความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านเพิ่มขึ้น 5.1% เป็น 216.26 Mbps เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยติดอันดับที่ 8 ของโลก และที่น่าสนใจคือราคาค่าบริการของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบ้านเราถ้าเป็นมือถืออยู่ที่ $0.41 ต่อ GB ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ $2.59 พอสมควร
คนไทยมีอัตราการมีมือถือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 136.1% สะท้อนให้เห็นว่าบางคนอาจมีมือถืออยู่หลายเครื่อง และพบว่าโดยเฉลี่ยใช้เวลาอยู่กับมือถือวันละ 5 ชั่วโมง 38 นาที ติดอันดับสามของโลก รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในขณะที่เราใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์วันละ 2 ชั่วโมง 56 นาที
ที่น่าสนใจคือ คนไทยใช้เวลาออนไลน์นานมาก ติดอันดับ 10 ของโลก เฉลี่ยถึงวันละ 7 ชั่วโมง 58 นาที ซึ่ง 98.3% เข้าถึงผ่านมือถือ ติดอันดับ 5 ของโลก โดยใช้เวลาบนมือถือวันละ 5 ชั่วโมง 2 นาที เป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงว่าคนไทยอาจใช้เวลากับมือถือมากเกินไป
ส่วนจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน หรือ 2.1% ในรอบปี 2023-2024 คิดเป็น 68.3% ของประชากรทั้งหมด โดย 50.8% เป็นผู้หญิง และ 49.2% เป็นผู้ชาย เฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่ง มีผู้ใช้ถึง 49.1 ล้านคน หรือ 68.3% ของประชากร และคิดเป็น 78.4% ของกลุ่มอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่ก็มีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงเหลือ 2.1% ทั้งปี รวมทั้งยังหดตัวลง 7.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ด้วย
ยูทูบ มีผู้ใช้ราว 44.2 ล้านคน หรือ 61.5% ของประชากร เติบโตขึ้นแค่ 0.7% จากปีก่อน ส่วนอินสตาแกรมมีผู้ใช้ 18.75 ล้านคน หรือ 26.1% ของประชากร เพิ่มขึ้น 8.1% จากต้นปี 2023 แต่กลับลดลง 8.8% ในไตรมาสสุดท้าย แพลตฟอร์มที่เติบโตโดดเด่นสุดคือติ๊กต็อก ซึ่งมีผู้ใช้อายุ 18 ปีขึ้นไป ถึง 44.38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.2% ตลอดปี 2023 และพุ่งสูงขึ้นถึง 16.5% ในไตรมาสสุดท้าย ขณะที่ X หรือทวิตเตอร์ยังมีผู้ใช้ราว 14.68 ล้านคน หรือ 20.4% ของประชากร แต่เติบโตขึ้นเพียง 0.6% และยังหดตัวลงถึง 9.4% ในช่วงท้ายปีอีกด้วย
สรุปได้ว่าในปี 2024 คนไทยเกือบ 90% ใช้อินเทอร์เน็ตได้แล้ว ขณะที่ 2 ใน 3 มีบัญชีโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊กและติ๊กต็อกยังได้รับความนิยมสูงสุด ท่ามกลางการชะลอตัวของโซเชียลมีเดียแบบเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่จำนวนซิมมือถือมากกว่าจำนวนคนเสียอีก นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของการเชื่อมต่อดิจิทัลในประเทศไทยเลยทีเดียว
รายงาน Digital 2024 มีสถิติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มาจากการสอบถามข้อมูลผู้ใช้ในช่วงอายุระหว่าง 16 -64 ปีทั่วโลก ของ GWI.com มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายเรื่อง เช่น
คนไทยติดอันดับหนึ่งของโลก ในการซื้อของออนไลน์คือ 66.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยมีเกาหลีใต้ตามมาเป็นอันดับสอง ตามด้วยทูร์เคีย (ตุรกี) ส่วนพฤติกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างคือ คนไทยใช้ QR Code ในชีวิตประจำวันมากเป็นอันดับ 6 ของโลกที่ 56.3% และเริ่มดูคอนเทนต์ทีวีผ่าน Streaming มากขึ้นเป็น 49.5% แล้ว สะท้อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และความท้าทายในการทำโฆษณาแบบเดิม
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ 1 ใน 3 ของคนไทยฟังเพลงออนไลน์เป็นประจำ เฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 34 นาที ส่วนคนฟัง Podcast แม้มีผู้ตอบแบบสอบถามว่ารับฟังแค่ 20% แต่กลับใช้เวลาฟังนานถึง 1 ชั่วโมง 7 นาที ติดอันดับ 2 ของโลก โดยอันดับหนึ่งคืออียิปต์ สะท้อนโอกาสของการทำ Music และ Podcast Marketing ในบ้านเรา
คนไทยยังติดเกมส์มากด้วย เป็นอันดับ 4 ของโลก จากการตอบแบบสอบถามมีคนเล่นถึง 93.2% และตลาด Smart Home ก็ยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก ตอนนี้มีคนใช้อุปกรณ์พวกนี้แค่ 5.9% เท่านั้น ส่วนคนไทยที่ถือคริปโทฯ ก็มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (19.5%) โดยอันดับหนึ่งของโลกคือทูร์เคีย และมีคนเล่นพนันออนไลน์ถึง 14.8% เสียเงินไปกับการพนันราว 5.2% ของรายได้ แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม
อีกอย่างที่น่าสนใจคือ แม้จะมีกระแสความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล แต่คนไทยเพียง 20.8% เท่านั้นที่กังวลเรื่องนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 31.2% แสดงให้เห็นว่าคนไทยอาจยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องข้อมูลส่วนตัวมากนัก
โดยสรุปแล้ว ข้อมูลจาก Digital 2024 นี้สะท้อนให้เห็นเทรนด์พฤติกรรมดิจิทัลของคนไทยที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ควรเอามาปรับใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ การทำคอนเทนต์ และการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันยุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้