‘เอดับบลิวเอส’ มอง ‘เอไอ’ จิ๊กซอว์เปลี่ยนโฉมธุรกิจ

‘เอดับบลิวเอส’ มอง ‘เอไอ’ จิ๊กซอว์เปลี่ยนโฉมธุรกิจ

ในแต่ละอุตสาหกรรมล้วนมียูสเคสที่น่าสนใจ สำหรับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจและปรับใช้เทคโนโลยี ที่น่าจับตามองอย่างมากคือ "เอไอจะมีบทบาทอย่างไรกับธุรกิจไทย"

KEY

POINTS

  • 3 เทรนด์ที่น่าสนใจซึ่งจะเกิดขึ้นในวงการค้าปลีกคือ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการทำความเข้าใจและเข้าถึงอินไซต์ตลาด, ปรับปรุงยกระดับระบบการดำเนินงาน และการพัฒนาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า
  • ธุรกิจไทยต่างมีความตื่นตัวที่จะนำ GenAI มาใช้
  • Gen AI เป็นเทคโนโลยีที่เมื่อฟังแล้วดูน่าสนใจ แต่การใช้งานจริงต้องสร้างความพร้อมและเข้ากับบริบทของธุรกิจ

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอดับบลิวเอส (AWS) เปิดมุมมองถึงการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในวงการค้าปลีกว่า มี 3 เทรนด์ที่น่าสนใจซึ่งจะเกิดขึ้นคือ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการทำความเข้าใจและเข้าถึงอินไซต์ตลาด, ปรับปรุงยกระดับระบบการดำเนินงาน และการพัฒนาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า

โดยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งการพัฒนาประสบการณ์แบบออมนิแชนแนล ซัพพลายเชน ยกระดับการทำงานและบริหารจัดการคลังสินค้า การบริหารและใช้ข้อมูล ระบบไอที รวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ

ปัจจุบัน ธุรกิจไทยทุกรายที่ได้พูดคุยต่างมีความตื่นตัวที่จะนำ GenAI มาใช้ ทั้งต้องการศึกษาเพื่อนำไปใช้เชิงธุรกิจ โดยกลุ่มผู้นำที่มักขยับตัวเป็นรายแรกๆ เข้าสู่การทำ POC และ POV กันแล้ว 

 

อย่างไรก็ดี โจทย์สำคัญคือการเลือกเครื่องมือที่ตอบโจทย์ โดยส่วนใหญ่มองเรื่องการนำดาต้าไปฝึกฝน เพื่อนำไปช่วยเรื่องการบริการลูกค้า

แต่ทั้งนี้ ยังกังวลเรื่องความแม่นยำ การตอบสนองของระบบ ซึ่งต้องยอมรับว่า Gen AI เป็นเทคโนโลยีที่เมื่อฟังแล้วดูน่าสนใจ แต่การใช้งานจริงต้องสร้างความพร้อมและเข้ากับบริบทของธุรกิจ อีกทางหนึ่งเมื่อใช้แล้วจะสร้างผลกระทบกับธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทุกอย่างล้วนมีต้นทุน

AWS สร้างขึ้นเพื่อธุรกิจค้าปลีก

สำหรับเอดับบลิวเอส ที่ผ่านมามีประสบการณ์การทำงานรวมถึงยูสเนสในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในอุตสหกรรมค้าปลีกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เอไอ แมชีนเลิร์นนิง เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบงานหน้าร้านและหลังบ้านอย่างคลังสินค้า และที่เกี่ยวข้องกับฟูลฟิวเมนท์ต่างๆ

“เอดับบลิวเอส เกิดมาจากธุรกิจค้าปลีกและสร้างขึ้นเพื่อธุรกิจค้าปลีก เป็นกลไกที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอะเมซอนเติบโต รวมไปถึงองค์กรค้าปลีกจากทั่วโลก” 

ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางหลักของการจับจ่ายสินค้าในประเทศไทย จากข้อมูลพบว่า ปีที่ผ่านมาทรานแซกชันมีมูลค่ากว่า 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2570 จะเพิ่มไปถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเติบโตเฉลี่ย 13.33% ต่อปี

เทคโนโลยี = กุญแจสำคัญ

ชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบ็ตเตอร์บี มาร์เก็ตเพลส จำกัด (NocNoc) ผู้ให้บริการออนไลน์มาร์เก็ตเพลสด้านโฮมแอนด์ลิฟวิง กล่าวว่า จุดยืนของบริษัทไม่ได้ต้องการเพียงขายสินค้า แต่หวังให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะเป็นกุญแจสำคัญทำให้ประสบการณ์ลูกค้าดีขึ้นได้ ‘เอดับบลิวเอส’ มอง ‘เอไอ’ จิ๊กซอว์เปลี่ยนโฉมธุรกิจ โดยปี 2567 นี้สิ่งที่ให้ความสำคัญจะมีทั้งการนำเอไอมาช่วยทำความเข้าใจความต้องการเฉพาะบุคคล พัฒนาประสบการณ์ทั้งบนออนไลน์และออนไซต์ พร้อมสร้างจุดต่างให้กับเส้นการการซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

“ปีนี้เรามุ่งโฟกัสการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ บริการโฮมโซลูชัน โดยในแผนจะมีการปรับใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยเฉพาะการนำเอไอมาช่วยทำความเข้าใจลูกค้าแบบรายบุคคล”

เชื่อว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อทั้งการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า แนะนำสินค้าที่ตรงใจในเวลาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกันช่วยในการการลดต้นทุน (cost efficiency) การขยายฐานตลาด (scalability) และความมั่นคงของระบบ (stability)

มองหายูสเคสใช้ Gen AI

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนทางเทคโนโลยีนั้น มีมุมมองว่าไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ แต่มองหาเครื่องมือที่สามารถต่อยอดซึ่งเหมาะสมกับโจทย์ธุรกิจ

ขณะเดียวกัน มองหายูสเคสที่จะนำ Gen AI ที่เหมาะสมกับธุรกิจมาปรับใช้ โดยเบื้องต้นที่มองไว้ เช่น เรื่องการสนับสนุนการให้บริการลูกค้า รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ เพื่อพัฒนาบริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น โดยภาพรวมเทคโนโลยียังไม่สามารถแทนมนุษย์ได้ทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน

ปัจจุบัน NocNoc มีผู้ค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 7 พันราย สินค้า 7 แสนรายการ ปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขาย (GMV) บนแพลตฟอร์มเติบโต 100% ขณะที่รายได้เติบโตได้ถึง 100% เช่นกัน