‘บอร์ดกสทช.’สั่งทบทวนงบยูโซ่ ชูความคุ้มค่า-เน้นงานโทรคม
บอร์ดกสทช.ตัดงบยูโซ่ 3 เหลือ 5,800 ล้านบบาท สั่งเทียบราคาซื้อ-เช่า สร้างความคุ้มค่า เสนอเข้าบอร์ดใหม่ 24 เม.ย.ขณะที่ยูโซ่ 4 ส่งไปประชาพิจารณ์เน้นโครงการด้านโทรคมฯ ส่วนงบระบบเตือนภัยฉุกเฉิน 1,400 ล้านบาท ต้องรอคำสั่งครม.
KEY
POINTS
- สั่งสำนักงาน กสทช. นำเสนอต่อบอร์ดอีกครั้งวันที่ 24 เม.ย.2567
- กลับไปเปรียบเทียบงบประมาณระหว่างการเช่ากับการซื้อ ว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน
- ลงมติหั่นมูลค่าโครงการอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,862.15 ล้านบาท
- สั่งค่ายมือถือทำซอฟต์แวร์ Cell Boradcast กรอบงบประมาณ 3 ปี จำนวน 1,031 ล้านบาท
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. มอบหมายให้ พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 9 เม.ย.2567 เพื่อพิจารณา 3 โครงการของงบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.
ประกอบด้วย 1.โครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคมในพื้นที่ขาดแคลน หรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง ของแผนปฏิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2565 ฉบับที่ 3 ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565)
2. ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2568) (ที่แก้ไขเพิ่มเติม)
และ 3 ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast)
สั่งสำนักงานกสทช.เทียบราคาซื้อ-เช่า
สำหรับโครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคมในพื้นที่ขาดแคลน หรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง ของแผนปฏิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2565 ฉบับที่ 3 ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) ที่จะครบกำหนดในเดือน พ.ค. 2567 ที่ประชุมขอให้สำนักงาน กสทช.กลับไปเปรียบเทียบงบประมาณระหว่างการเช่ากับการซื้อ ว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน หากการเช่าประหยัดกว่าการซื้อก็จะสามารถเพิ่มจุดให้บริการได้ จากนั้นกลับมานำเสนอต่อบอร์ดอีกครั้งวันที่ 24 เม.ย.2567
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,862.15 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
ยุทธศาสตร์ 1 : ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ให้มุ่งเน้นโรงพยาบาลสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เป็นหลัก เพื่อให้ รพ.สต. สามารถข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ ภายใต้กรอบงบประมาณ 3,991.12 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้กรอบงบประมาณ 1,371.85 ล้านบาท ให้มุ่งเน้นไปที่ระบบโรงเรียนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนภายใต้กองทุนเพื่อการศึกษา รวมทั้งโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการใด หรือโรงเรียนในพื้นที่ตกหล่น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ระบบโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง ภายใต้กรอบงบประมาณ 499.18 ล้านบาท ในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำหนดหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายและความต้องการ ในกรณีด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กำหนดพื้นที่เป้าหมายและความต้องการ
ประชาพิจารณ์ ยูโซ่ 4 ให้งบเฉพาะด้านโทรคมฯ
ส่วนร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2568) (ที่แก้ไขเพิ่มเติม) นั้น ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ และให้นำร่างประกาศฯไปประชาพิจารณ์
สำหรับสาระสำคัญที่นำเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ความหมายและคำนิยาม ใช้แนวทางที่ 6 "บริการโทรศัพท์ บริการอินเทอร์เน็ตและบริการโทรคมนาคมอื่นใดที่ใช้เทคโนโลยี โทรคมนาคมรวมถึงระบบและอุปกรณ์อื่นใดที่เป็นส่วนประกอบเพื่อให้เกิดบริการโทรคมนาคม ซึ่งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล หน่วยงานด้านความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะและกลุ่มเป้าหมายอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด
โดยสามารถเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ได้รับบริการด้านสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม"
2. ปรับปรุงกรอบระยะเวลา จากระยะ 1 ปี (พ.ศ.2566) เป็นระยะ 3 ปี (พ.ศ.2566 - 2568)
3. กรอบวงเงินค่าใช้จ่าย จาก 8,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท
กรอบงบระบบเตือนภัย 1.4 พันล.รอครม.เคาะ
สำหรับ ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ขอกรอบงบประมาณในการทำระบบจำนวน 434,679,068.80 บาท และ งบประมาณสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอรเตอร์) ทุกค่าย ในการทำซอฟต์แวร์การแจ้งเตือนภัย กรอบงบประมาณ 3 ปี จำนวน 1,031 ล้านบาท เพื่อนำมาหักค่าใช้จ่ายกองทุนยูโซ่ รวมเป็นกรอบวงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการทั้ง 7 เสียง แต่ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน
โครงการยูโซ่ต้องลดความเหลื่อมล้ำ-ใช้ประโยชน์เต็มที่
ด้านพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า โครงการยูโซ่ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ และใช้ประโยชน์เต็มที่ จึงสั่งให้ทบทวนแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,862.15 ล้านบาท โดยบอร์ด กสทช. สั่งการให้สำนักงาน กสทช.ไปทวนทวน เปรียบเทียบราคาระหว่างเช่าอุปกรณ์ และ ซื้ออุปกรณ์ ให้ชัดเจน โดยแผนที่เสนอเข้ามามีแต่ซื้ออุปกรณ์ทั้งนั้น ไม่มีเช่าใช้อุปกรณ์เลย เพราะหากเช่าใช้อุปกรณ์จะทำให้เพิ่มจุดติดตั้งบริการได้เพิ่มเติมจาก 300 จุด เป็น 320 จุด คอนเซ็ปของโครงการ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ราคาที่สมเหตุสมผล คนใช้เกิดประโยชน์
สำหรับร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 บอร์ด กสทช. เห็นชอบในหลักการแต่ในส่วนของคำนิยามเน้นคำว่าเฉพาะบริการโทรคมนาคม ห้ามทำแอปพลิเคชัน โดยนำร่างประกาศดังกล่าวไปทำประชาพิจารณ์
ส่วนระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) จะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ให้รับทราบ ก่อน ซึ่งกรรมการทุกคนเห็นชอบในหลักการ แต่เนื่องจาก พลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร ตั้งข้อสังเกตและทราบมาว่า งบประมาณที่กระทรวงดีอีขอมานั้น ทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) ได้รับงบประมาณจำนวนใกล้เคียงกันไปแล้ว จึงเกรงว่าจะเกิดการทำงานซ้ำซ้อนกัน