'จี๊ป ไคลน์' VC ซิลิคอน วัลเลย์ มองสตาร์ตอัป 'ยังไม่ตาย' ชู 3 เทรนด์เด่นมาแรง

'จี๊ป ไคลน์' VC ซิลิคอน วัลเลย์ มองสตาร์ตอัป 'ยังไม่ตาย' ชู 3 เทรนด์เด่นมาแรง

“จี๊ป ไคลน์” หญิงไทยคนเก่ง ผู้บริหารกองทุนระดับโลกใน “ซิลิคอน วัลเลย์” มองสตาร์ตอัปยังอยู่ได้ เปิด 3 กลุ่มหลัก “ไคลเมท เทค - แมนูเฟคเจอริ่ง เทค - เฮลท์ เทค” มาแรงเตะตานักลงทุน เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาใน 5-10 ปีข้างหน้านี้

KEY

POINTS

  • "จี๊ป ไคลน์" วีซี ซิลิคอน วัลเลย์ ชี้ "สตาร์ตอัป" ยังเป็นที่ต้องการ
  • มอง สตาร์ตอัป 3 กลุ่มหลัก “Climate Tech - Manufacturing Tech - Health Tech ” มาแรงเตะตานักลงทุน เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาใน 5-10 ปีข้างหน้านี้
  • แนะไทยควรมี Private VC ซึ่งเป็น สแตนอะโลน วีซี ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของแบงก์หรือบริษัทใหญ่ เน้นสนับสนุนสตาร์ตอัปในระดับเริ่มต้น (early stage)
  • ภาครัฐ ควรสนับสนุนและมี “เงินทุนให้เปล่า” กับสตาร์ตอัป โดยเฉพาะสตาร์ตอัปดีปเทค
  • ชี้ไทย มีจุดแข็งหลายเรื่อง วิศวกรที่เก่ง อยู่ในทำเลภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี ควรดึงจุดแข็งเหล่านี้ สร้างแต้มต่อ

 

 

 

“จี๊ป ไคลน์” หญิงไทยคนเก่ง ผู้บริหารกองทุนระดับโลกใน “ซิลิคอน วัลเลย์” มองอนาคตโลกสตาร์ตอัปยังไปได้ ชี้ 3 กลุ่มหลัก “ไคลเมท เทค - แมนูเฟคเจอริ่ง เทค - เฮลท์ เทค” มาแรงเตะตานักลงทุน เป็นเทรนด์ที่น่าจับตาใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ ส่งผล กระทบเชิงบวกให้ทั้งโลกรวมถึงไทย แนะ “ไทย” ใช้จุดแข็งที่มีสร้างแต้มต่อหนุน       สตาร์ตอัป ดึงเงินลงทุนปูทางสู่ระดับโลก

เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ‘จี๊ป ไคลน์’ (Jeep Kline) หญิงไทยคนเก่ง ผู้บริหารกองทุนเวนเจอร์ แคปิตอล (วีซี) และ ผู้ร่วมก่อตั้งวีซีในซิลิคอน วัลเลย์ เดินทางมาไทย และให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแนวโน้มสตาร์ตอัป และกลุ่มธุรกิจที่นักลงทุนทั่วโลกยังสนใจ

จี๊ป เอ่ยถึง กระแส “เอไอ” ที่กำลังมาแรงขณะนี้ว่า “เอไอ” คือ อีกเรื่องที่สำคัญของวันนี้  หากมองในฐานะของ เทค อินเวสเมนท์ เชื่อว่าทุกบริษัทมี เอไอ เป็นส่วนหนึ่งในองค์กร เพราะหนีไม่พ้น

"เราสามารถนำเอไอมาเป็นเครื่องมือช่วยเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจได้ ทั้งในรูปแบบการผลิต หรือในอุตสาหกรรม”

 

\'จี๊ป ไคลน์\' VC ซิลิคอน วัลเลย์ มองสตาร์ตอัป \'ยังไม่ตาย\' ชู 3 เทรนด์เด่นมาแรง

ผ่า 3 กลุ่มสตาร์ตอัปปลุกไทยโดดเด่น

ในฐานะผู้บริหารกองทุนระดับโลก ที่เน้นลงทุนกลุ่มสตาร์ตอัป “จี๊ป” วิเคราะห์ว่า ปี 2567 สิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญกับประเทศและเศรษฐกิจไทย หากพูดถึงเทคโนโลยีที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก มี 3 กลุ่มใหญ่

ที่สำคัญที่สุด คือ ไคลเมท เทค (Climate Tech) ปีนี้จนถึง 5-10 ปีข้างหน้า จะมีการพูดถึงเทคโนโลยีที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ รวมไปถึง ฟู้ด เทค (Food Tech) , อะกริคัลเจอร์ เทค (Agriculture Tech) , อีวี ในส่วนแบตเตอรี่ , กรีน แมททีเรียล (Green Material) และเทคโนโลยีอื่นที่ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในกลุ่มไคลเมท เทค

ส่วนที่ 2 ที่สำคัญโดยเฉพาะเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ แมนูเฟคเจอริ่ง เทค (Manufacturing Tech) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

และส่วนที่ 3 คือ เฮลท์ เทค (Health Tech) จะสำคัญมากนับจากนี้

“ทั้ง 3 กลุ่มนี้ เป็นเทรนด์ที่วีซีระดับโลกจะให้ความสนใจแน่นอน เพราะสร้างผลกระทบเชิงบวกในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศในภูมิภาคนี้ เป็นสิ่งที่ไทยมีโอกาส ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนได้ เพราะทั้ง 3 กลุ่มนี้ คือ จุดแข็งของประเทศไทย

ขณะที่ กลุ่มอื่นอย่าง เอ็ดดูเคชั่น เทค หรือ ไฟแนนซ์เชียล เทค ยังน่าสนใจอยู่ แต่ในกลุ่ม ไฟแนนซ์เชียล เทค วันนี้เริ่มเห็นแล้วว่าใครเป็นผู้ชนะ ดังนั้นควรหันมาเน้นในสิ่งที่มีผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มาก เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจสูง”

\'จี๊ป ไคลน์\' VC ซิลิคอน วัลเลย์ มองสตาร์ตอัป \'ยังไม่ตาย\' ชู 3 เทรนด์เด่นมาแรง

แนะ “ไทย” ใช้จุดแข็งดึงลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากดูอีโคซิสเตมในไทย ข้อดี คือ มี asset ที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะ ทุนมนุษย์ (Human Capital) ไทยมีวิศวกรที่เก่ง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี ควรใช้ “จุดแข็ง” เหล่านี้ดึงดูดการลงทุนเข้ามา

“จุดแข็งของไทยปัจจุบัน เรามีจำนวน CVC (Corporate Venture Capital) จำนวนมาก ซึ่งการลงทุนจะเน้นลงทุนขนาดใหญ่ และจะลงในบริษัทสตาร์ตอัปที่เป็น ซีรีส์ A ขึ้นไป ดังนั้น ไทยควรมี Private VC ซึ่งเป็น สแตนอะโลน วีซี ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของแบงก์หรือบริษัทใหญ่ เพื่อมาสนับสนุนสตาร์ตอัปในระดับเริ่มต้น (early stage) ด้วย ถ้าเรายังไม่มีตรงนี้ สตาร์ตอัปจะไม่มีเงินทุนที่โตไปในระดับ ซีรีส์ เอ ได้”

จี๊ป เสริมว่า การเป็นวีซี ไม่ใช่แค่ลงเงินอย่างเดียว แต่ต้อง Bring value ให้บริษัท สามารถดูแลบริษัทได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ทำได้ในส่วนภาครัฐ คือ การสนับสนุนและมี “เงินทุนให้เปล่า” กับสตาร์ตอัป โดยเฉพาะสตาร์ตอัปดีปเทค ที่ต้องใช้เวลา Proof of concept อาจต้องใช้เวลานาน ดังนั้น หากมีเงินทุนให้เปล่า แบบไม่มีเงื่อนไข จะช่วยดันสตาร์ตอัป หรือผู้ประกอบการให้สามารถอยู่ได้ และมีแรงจูงใจ (incentive) ให้วีซีเข้ามาลงทุน

การเป็นนักลงทุน ก็ใช่ว่าจะลงทุนในกองทุนต่างประเทศ เพื่อแสวงหากำไรอย่างเดียว แต่ควรจะลงทุนเพื่อคิดถึงผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมไปถึงความรู้เพื่อนำกลับมาไทย อันนี้ คือ ประเด็นสำคัญ ไม่เช่นนั้น จะเป็นการลงทุนที่มีแต่เงินไหลออก ลงทุนแค่เพื่อหวังผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แล้วก็จบ แต่ถ้าลงทุนเพื่อจุดประสงค์ เป็นลักษณะโนฮาว ความรู้ เพื่อที่จะมีผลกระทบเชิงบวกในไทยจะดีกว่า

สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ทักษะของผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอด หรือครีเอทสิ่งใหม่ ที่อาจไม่จำเป็นต้องสร้างของใหม่เพื่อแข่งกับเจ้าของเทคโนโลยี แต่ต้องสามารถนำมา “ปรับใช้” ให้เหมาะกับประเทศได้ มองตลาดให้ออก พร้อมทำให้อีโคซิสเตมในประเทศเอื้อต่อการลงทุน ใช้จุดแข็งของไทยที่มีในทุกมิติ

"เราอยากให้สตาร์ตอัปไทยระดับ early stage ไปสู่สนามใหญ่ ไปสู่โกลบอลมากขึ้น ดังนั้นผู้จัดการกองทุนต้องมีความสามารถ จะลงทุนเงินอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องนำคุณค่ามาสู่สตาร์ตอัปด้วย"

จี๊ป ทิ้งท้ายว่า "ประเทศไทยต้องยกระดับจุดแข็งที่มีให้ได้ ต่อยอด สร้างความแตกต่าง ประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีสงคราม ดังนั้น เรามีโอกาสที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ประเทศอื่นอาจไม่มีโอกาส"

ปัจจุบันกองทุนสำหรับสตาร์ตอัปที่ “จี๊ป” บริหารอยู่ ยังคงดำเนินต่อไป มีไปลงทุนในบริษัทแถบละตินอเมริกาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 บริษัท ทั้งยังเป็นที่ปรึกษากองทุน หรือ Investment committee ให้กับกองทุนในแอฟริกา กองทุนในยุโรปตะวันออก และกองทุน Growth stage fund ด้วย

‘จี๊ป ไคลน์’ คือ ใคร

‘จี๊ป ไคลน์’ เกิดและโตที่เมืองไทย เป็นหญิงไทยเพียงไม่กี่คน ที่ไปโลดแล่นในวงการธุรกิจการลงทุน สตาร์ตอัปโลก จบเศรษฐศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มีประสบการณ์ในเวิลด์แบงก์ หน่วยงานที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก

เคยทำงานใน "อินเทล" ยักษ์ผู้ผลิตชิปโลก ปัจจุบัน จี๊ป เป็นอาจารย์สอน MBA ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (Professional Faculty at UC Berkeley) สหรัฐ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนวีซีใน ซิลิคอน วัลเลย์ สนับสนุนเงินทุนผู้ประกอบการ หรือสตาร์ตอัปที่ตอบโจทย์เป้าหมายของกองทุน