'อโณทัย' ฉายคมคิด ไอบีเอ็ม ก้าวย่าง 'ความยั่งยืน' หรือเป้าหมายกำลัง ‘ผิดทาง’
การทำเรื่องดีๆ ให้โลก ย่อมเป็นสิ่งดีสำหรับธุรกิจ แต่เหตุใดการสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ จึงยังคงเดินหน้าแบบคู่ขนาน "อโณทัย เวทยากร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย สะท้อนมุมคิดของ 'ไอบีเอ็ม' ในประเด็นนี้
KEY
POINTS
- ผู้บริหารในอาเซียนและในไทยเกือบ 60% มององค์กรยังต้องเลือกสร้างผลลัพธ์การเงิน กับสร้างความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม
- องค์กรจำนวนมากก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมที่วาดฝันไว้
- ไอบีเอ็ม แนะ ลบภาพจำความยั่งยืนแบบเดิม สู่แนวคิดใหม่ เน้นผลลัพธ์ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม และผลลัพธ์ทางการเงินของธุรกิจไปพร้อมๆ กัน”
- “Generative AI (Gen AI) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม
- Gen AI จะมีความสำคัญต่อการผลักดันด้านความยั่งยืน และ 72% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนใน Gen AI เพื่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน
การทำเรื่องดีๆ ให้โลกของเรา ย่อมเป็นสิ่งดีสำหรับธุรกิจเช่นกัน แต่เหตุใดการสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ จึงยังคงเดินหน้าแบบคู่ขนาน ผู้บริหารในภูมิภาคอาเซียนและในไทยเกือบ 60% มองว่าองค์กรของตนยังต้องเลือกระหว่างการสร้างผลลัพธ์ทางการเงิน กับการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ 53% ระบุว่าจำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นผลประโยชน์ทางธุรกิจหากจะขออนุมัติเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม
แม้จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ มาแล้วหลายปี แต่องค์กรจำนวนมากก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมที่วาดฝันไว้
เดือนคุ้มครองโลกปีนี้ “อโณทัย เวทยากร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เล่าถึงผลการศึกษา “Beyond checking the box: How to create business value with embedded sustainability” ที่รวบรวมมุมมองจากผู้บริหารระดับสูง 5,000 คนทั่วโลก จาก 22 อุตสาหกรรม ใน 22 ประเทศ ที่รวมถึงอาเซียนและประเทศไทย เพื่อสะท้อนต้นเหตุปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ปัญหา
อโณทัย มองว่า “อย่างแรกเลย เราต้องมองให้ตรงกันก่อนว่า การดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม กับการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ เป็นคนละเรื่องกัน เราต้องลบภาพจำของคำว่าความยั่งยืนแบบเดิมๆ แล้วเปิดทางสู่แนวคิดและโมเดลใหม่ๆ ที่สร้างทั้งผลลัพธ์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และผลลัพธ์ทางการเงินของธุรกิจไปด้วยพร้อมๆ กัน”
ความยั่งยืนแกนหลักธุรกิจ
ผลศึกษาโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ระบุว่า องค์กรในอาเซียนและประเทศไทย 77% มองว่าความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นแกนหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจของตน โดย 74% มองว่านำสู่ผลการดำเนินการที่ดีขึ้น และ 72% มองว่าเป็นตัวสร้างรายได้มากกว่ารายจ่าย อย่างไรก็ดี กลับมีองค์กรเพียง 22% ที่มองว่าตนมีความก้าวหน้าในการดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม โดย 51% ยังเผชิญความยากลำบากในการหาเงินสนับสนุนการลงทุนด้านความยั่งยืนอยู่
อโณทัย ชี้ว่า “หลายองค์กรอาจมองว่าตนค่อนข้างประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่สวนทางกันอย่างชัดเจนคือมีองค์กรในอาเซียนและไทยเพียง 29% ที่เอาข้อมูลด้านความยั่งยืนมาเป็นมุมมองเชิงลึกช่วยปรับปรุงการดำเนินงานของโครงการทางธุรกิจต่างๆ อย่างแท้จริง ขณะที่เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ ก็ยังตกอยู่ที่การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน แทนที่จะเป็นนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ซึ่งมีส่วนต่างถึง 38%”
รีเซ็ทแนวคิดเดิมๆ ถึงเวลาคิดต่าง-ทำต่าง
การศึกษาดังกล่าวยังฉายภาพความจริงให้เห็นว่า โฟกัสขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม (Sustainability Embedders) มีความแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ อย่างชัดเจน
อโณทัย อธิบายว่า “อย่างแรก Embedder ไม่ได้ทุ่มเงินให้กับการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม หรือมองว่าจำเป็นต้องมีงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับเรื่องนี้ แต่องค์กรเหล่านี้เลือกที่จะนำข้อมูลความยั่งยืน มาเป็นมุมมองเชิงลึกให้กับการตัดสินใจลงทุนหรือใช้จ่ายด้านอื่นๆ ซึ่งเทียบแล้วมากกว่าองค์กรอื่นถึง 22%”
“อย่างที่สอง Embedder ไม่ได้ทำโครงการต่างๆ จำนวนมาก แต่ประมาณ 90% ของ Embedder จะเน้นที่การผสานปัจจัยด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมเข้ากับงานปฏิบัติการหลักหรือโปรแกรมด้านการทรานส์ฟอร์มที่องค์กรทำอยู่ และสาม Embedder ไม่ได้มองว่าการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องพิเศษหรือเป็นเรื่องสำหรับยกระดับภาพลักษณ์องค์กร แต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางธุรกิจระยะยาว ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่สร้างผลลัพธ์ทางการเงินไปด้วยพร้อมกัน”
อโณทัยเสริมว่า “การศึกษายังชี้ให้เห็นว่าองค์กร Embedder มีผลประกอบการทั้งด้านการเงินและความยั่งยืนดีกว่า ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยี AI อย่าง Maximo เข้าเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารจัดการและคาดการณ์การซ่อมบำรุงต่างๆ อย่างแม่นยำ นำสู่การเพิ่มอายุการใช้งานของอุปกรณ์สำคัญๆ ลดความสูญเสียจากการหยุดทำงานของอุปกรณ์ รวมถึงประหยัดพลังงาน
เหล่านี้คือตัวอย่างที่ไอบีเอ็มได้เห็นจากองค์กรแถวหน้าในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น Double A, กรมทางหลวง หรือแม้แต่โรงผลิตและกระจายไฟฟ้าขนาดใหญ่ของไทย”
3 ความท้าทายที่องค์กรไทยต้องก้าวข้าม
แม้ว่าการผสานข้อมูลความยั่งยืนเข้าสนับสนุนการปฏิบัติการในด้านต่างๆ ขององค์กรจะนำสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่การลงมือทำจริงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดี การศึกษาในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ Embedder ทำแตกต่าง ออกไป เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย 3 ประการ
1.ความท้าทายในการนำข้อมูลมาใช้
แม้ 83% ของผู้บริหารระดับสูงในอาเซียน รวมถึงในไทย จะตระหนักว่าข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและมีความโปร่งใสคือปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร แต่วันนี้มีองค์กรเพียง 4 ใน 10 ที่สามารถดึงข้อมูลได้อัตโนมัติจากระบบหลักต่างๆ อย่าง ERP, ระบบบริหารจัดการสินทรัพย์องค์กร (EAM), ระบบบริหารจัดการพลังงาน และระบบบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร หรือสามารถอินทิเกรทมุมมองเชิงลึกด้านความยั่งยืนจากระบบหลักเหล่านี้เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจได้
ต่างจาก 8 ใน 10 ของกลุ่ม Embedder ที่วันนี้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ตนมีเพื่อพัฒนาบริการ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมด้านความยั่งยืนได้แล้ว นำสู่การลดการใช้พลังงาน (44%) และการสร้างระบบซัพพลายเชนที่มีความยั่งยืนขึ้น (40%)
2.ความท้าทายในการอินทิเกรทข้อมูลธุรกิจการผสานรวมข้อมูลและมุมมองเชิงลึกเข้ากับระบบปฏิบัติการต่างๆ
เรื่องนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน วันนี้แผนกไอทีเป็นหนึ่งในแผนกที่ทำเรื่องนี้ได้ดีในอันดับต้นๆ รองจากสายการผลิต จัดซื้อ การบริการลูกค้า และการเงิน ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะความพยายามในการผลักดันเรื่อง Green IT ได้นำสู่ทั้งการลดต้นทุนและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้ไฮบริดคลาวด์ เพราะการอ็อปติไมซ์เวิร์คโหลดและข้อมูลทั้งที่อยู่บนพับลิคคลาวด์ ไพรเวทคลาวด์ และภายในองค์กร นำสู่การลดการใช้พลังงานและต้นทุน
3.ความท้าทายด้านคน ทักษะ และการตัดสินใจ
เหนือสิ่งอื่นใด การทรานส์ฟอร์มในสเกลใหญ่ที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมองคนเป็นศูนย์กลาง องค์กรต้องรีสกิลและพัฒนาทาเลนท์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าแผนก “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมองค์กร” และทีมงานเฉพาะกิจด้านความยั่งยืน มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่จำเป็น รวมถึงรับคำสั่งและรายงานตรงต่อผู้บริหารระดับ C-suite
Gen AI ตัวพลิกเกม สร้าง win-win
อโณทัยยังมองว่า “Generative AI (Gen AI) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของข้อมูล โดย 5 แนวทางสำคัญที่จะถูกนำมาใช้ คือการเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ การลดการใช้พลังงาน การลดขยะ การติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ครอบคลุม Scope 3) และการบริหารจัดการความเสี่ยง/สร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวได้เร็ว” โดยผู้บริหารองค์กรในอาเซียนและในไทย 55% มองว่า Gen AI จะมีความสำคัญต่อการผลักดันด้านความยั่งยืน และ 72% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนใน Gen AI เพื่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน
อโณทัยทิ้งท้ายว่า “ในโลกที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้ นอกจากผู้บริหารจะต้องรับมือกับวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ถาโถมอย่างต่อเนื่องแล้ว ในอีกทางก็ต้องไม่ลดทอนความสำคัญของการดำเนินการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมแม้ว่าเรื่องสำคัญอื่นๆ จะเข้ามาแทรก ผู้บริหารต้องมองความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องเสริมในเส้นทางการเดินหน้าสู่เป้าหมายความสำเร็จของธุรกิจ แต่คือเรื่องที่ต้องผสานรวมเข้าไปด้วยกันตลอดเส้น