‘หุ่นยนต์ทำความสะอาด’ Gen 3 ก้าวใหม่บนโลก AI - IoT
หากพูดถึงการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะในยุคปัจจุบัน ภาพของหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบมืออาชีพ (Professional Cleaning Robots) เริ่มเป็นที่คุ้นตาในอาคารหลายแห่งในประเทศไทย
KEY
POINTS
- Gen 3 เป็นยุคที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) รวมถึง AI และ Deep Learning
- ที่น่าจับตามองคือ “การพัฒนารูปแบบธุรกิจเป็นการเช่าใช้” หรือ “Robot as a Service”
- หากกฎหมายล้าสมัยอาจส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นในตลาดโดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก ResearchAndMarkets.com คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโลกในธุรกิจนี้จะมีอัตราการเติบโตต่อปีประมาณ 20% ระหว่างปี 2566-2573และมูลค่าตลาดอาจจะแตะ 20,970 ล้านดอลลาร์ในปี 2573 โดยมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทยถือส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30%
ขาดแรงงาน - เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
เมทเธียร์ ผู้ให้บริการการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร (Smart Facility Management) ในเครือสกาย กรุ๊ป เผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ทำความสะอาดเพิ่มขึ้นหลักๆ จะมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประชากรโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น และความต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนต้องลดลง
สำหรับ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่น่าสนใจมีอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการของหุ่นยนต์ที่ยังต้องทำงานร่วมกับคนไปสู่หุ่นยนต์เจเนอเรชั่น 3 (Gen3) ที่พัฒนาสู่ Internet of Things คือ สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีคนควบคุม
นอกจากนี้ โยงถึงพัฒนาการของรูปแบบธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น Robot as a Service (การเช่าใช้หุ่นยนต์บริการ) รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคตพัฒนาการของหุ่นยนต์ทำความสะอาดจากรุ่นสู่รุ่น : การพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบ่งกว้างๆ ได้ 3 ยุค ยุคแรกคือยุคที่หุ่นยนต์ทำตามคำสั่งที่ป้อนโดยมนุษย์ ยุคที่สอง(ยุคปัจจุบัน) คือยุคที่หุ่นยนต์ฉลาดมากขึ้น สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ มีฟีเจอร์ที่จะตรวจจับวัตถุและคนได้ และใช้เอไอเข้ามาร่วมด้วยแต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ
สำหรับ ยุคที่สามเป็นยุคที่เชื่อว่าจะมาถึงในไม่ช้านี้ คือยุคที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) รวมถึงเอไอและการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สามารถสร้าง 3D Mapping ทำให้หุ่นยนต์สามารถคิดและตัดสินใจประมวลผลในการทำงานเองได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด
‘กฎหมาย’ ต้องทันเทคโนโลยี
ที่น่าจับตามองคือ “การพัฒนารูปแบบธุรกิจเป็นการเช่าใช้” หรือ “Robot as a Service” เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น : เนื่องจากต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ในแต่ละครั้งนั้นค่อนข้างสูง ทำให้ราคาขายของหุ่นยนต์ทำความสะอาดจึงสูงตาม และส่งผลให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร
อีกส่วนที่สำคัญคือ การเตรียมพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับการมาของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully-automated) ประเด็นด้านกฎหมายนี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันทั่วโลกและไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวสำหรับประเทศไทย รัฐบาลจึงควรวางแผนเตรียมปรับปรุงกฎหมายให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต
หากเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์บริการอย่างต่อเนื่องและดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติอย่างมหาศาล
แต่หากกฎหมายล้าสมัยจนผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ อาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้