‘สกุลเงินดิจิทัล’ ธนาคารกลางทั่วโลก ผลกระทบต่อ ‘ระบบชำระเงิน’
หากดูสถานการณ์การใช้เงิน CDBC ทั่วโลกแล้ว เหมือนว่าความไม่พร้อมยังมีอยู่มาก วันนี้จึงอยากกลับมาทบ ทวนสถานการณ์ล่าสุดว่าเป็นอย่างไร มีความเสี่ยง ความท้าทายอะไร มีบทเรียนอะไรจากประเทศที่ทดลองใช้ CBDC ไปแล้ว
"โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท" ที่รัฐบาลประกาศว่ามีแผนแจกให้ประชาชนปีนี้ แม้รายละเอียดยังไม่ชัดเจนว่าจะแจกเงินรูปแบบใด ช่วงแรกที่ประกาศโครงการ ระบุว่า จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและเสมือนว่าอาจเป็นเงินดิจิทัลแบบใดแบบหนึ่ง แต่ต่อมาดูเหมือนว่าอาจแจก “เงินสดในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์” ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม หากเป็นสกุลเงินดิจิทัล ก็คาดว่าจะไม่ใช่ สกุลเงินคริปโทฯ (Cryptocurrency) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเอกชนซึ่งมีความผันผวนสูง แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) ซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่าและได้รับการสนับสนุนจากทางการ
แต่หากดูสถานการณ์การใช้เงิน CDBC ทั่วโลกแล้ว เหมือนว่าความไม่พร้อมยังมีอยู่มาก วันนี้จึงอยากกลับมาทบ ทวนสถานการณ์ล่าสุดว่าเป็นอย่างไร มีความเสี่ยง ความท้าทายอะไร มีบทเรียนอะไรจากประเทศที่ทดลองใช้ CBDC ไปแล้ว
CBDC คือรูปแบบหนึ่งของเงินดิจิทัลที่ออก และควบคุมโดยธนาคารกลางแต่ละประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กับเงินสดและเงินฝากธนาคาร CBDC มีสองประเภทหลัก ได้แก่ CBDC แบบบัญชี (Account-based) ที่ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมและยืนยันตัวตน คล้ายบัญชีเงินฝากทั่วไป และ CBDC แบบโทเค็น (Token-based) ที่เกี่ยวข้องกับการโอนสินทรพย์ดิจิทัล ที่มีมูลค่าจากกระเป๋าเงินหนึ่งไปยังอีกกระเป๋าหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตน แต่ใช้กลไกของระบบเข้ารหัส
ปัจจุบัน มีการพัฒนา CBDC เพื่อใช้งานทั้งในระดับร้านค้าปลีก (Retail CBDC) สำหรับการชำระเงินของประชาชนทั่วไป และระดับขายส่ง (Wholesale CBDC) สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน โดย CBDC มีประโยชน์สำคัญด้านการตรวจสอบการเงินแบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบธนาคารกลาง และลดต้นทุนบริการทางการเงิน นอกจากนี้ CBDCs ยังเป็นที่ยอมรับโดยประชาชนได้ง่ายกว่าเงินสกุลคริปโท เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐและมีความเสี่ยงน้อยกว่า
CBDC ยังมีความท้าทายและความเสี่ยงหลายประการ
- ประการแรก คือ ความท้าทายในการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การเข้าถึงเทคโนโลยีประชาชนบางกลุ่ม เช่น กรณี CBDC ในเอกวาดอร์ที่ต้องยุติโครงการปี 2014 เนื่องจากการนำไปใช้อย่างจำกัด
- ประการที่สอง คือ ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อจำนวนมากในระบบ CBDC ที่ใช้งานทั่วไป ซึ่งอาจตกเป็นเป้าโจมตีได้
- ประการที่สาม คือความแตกต่างของกรอบกฎหมาย และกฎระเบียบแต่ละประเทศ อุปสรรคสำคัญการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ CBDC ยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองและการกำกับดูแล ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่า รัฐบาลอาจใช้ CBDC เพื่อควบคุมพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน เช่น กำหนดวันหมดอายุของเงิน หรือควบคุมการใช้จ่ายเฉพาะอย่าง ขณะที่ CBDC ยังอาจเอื้อต่อการหลีกเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของจีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ มานาน แต่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ออกสกุลเงินสำรองหลักของโลก
ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ทั่วโลก 134 ประเทศ กำลังศึกษาเรื่อง CBDC มี 68 ประเทศที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาขั้นสูงในจำนวนนี้ 19 ประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศ G20 นอกจากนี้มี 3 ประเทศที่เปิดตัว CBDC อย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ บาฮามาส จาเมกา และไนจีเรีย แต่มีสหภาพการเงินกลุ่มแคริบเบียนตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเทศ ที่เคยออกเงิน CDBC แล้วต้องระงับการใช้ไว้ก่อนเนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิค และกำลังพัฒนาโครงการนำร่องใหม่
ส่วนในสหรัฐอเมริกามีการชะลอตัวลงในความคืบหน้าของการพัฒนา retail CBDC นอกจากนี้ CBDC ยังกลายเป็นประเด็นในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผู้สมัครบางคนออกมาคัดค้าน ขณะที่ประเทศจีนซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศ BRICS ร่วมกับรัสเซีย บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ กำลังทดลองนำร่อง CBDC อย่างเข้มข้น และผลักดันการใช้ CBDC ในการค้าระหว่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนมีโครงการนำร่อง CBDC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีกระเป๋าเงินหยวนดิจิทัล e-CNY กว่า 260 ล้านใบใน 25 เมือง และกำลังขยายการใช้งานในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การใช้งานเงินหยวนดิจิทัลในชีวิตประจำวันยังไม่แพร่หลายนัก จากประสบการณ์ผู้ทดลองใช้พบว่า การสมัครบัญชียุ่งยาก และร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการชำระด้วยเงินหยวนดิจิทัล มีเพียงหน่วยงานรัฐบางแห่งเท่านั้นที่รองรับ ประชาชนไม่คุ้นกับเงินหยวนดิจิทัล และไม่เห็นประโยชน์ที่แตกต่างจากแอป Alipay หรือ WeChat Pay ที่ใช้อยู่นอกจากนี้ยังไม่มีฟีเจอร์ให้ถอนเงินกลับไปยังบัญชีธนาคาร สะท้อนข้อจำกัดของเงินหยวนดิจิทัลในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป CBDC เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากธนาคารกลางทั่วโลก อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบการเงินในอนาคต แต่การพัฒนาและใช้งานจริงยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น และต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการยอมรับของผู้ใช้ การปรับตัวผู้ให้บริการ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การทำงานข้ามพรมแดน รวมถึงข้อกังวลในการควบคุมพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
ในขณะเดียวกัน CBDC ยังมีนัยทางการเมืองระหว่างประเทศที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความพยายามของจีนและชาติพันธมิตรในการใช้ CBDC เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ และท้าทายสถานะของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อกระแสการพัฒนา CBDC ต่อไปในอนาคต
สำหรับประเทศไทย การวางแผนแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ CBDC ก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและการกำกับดูแล การยอมรับและความเข้าใจของประชาชน รวมถึงความสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้