'ไมโครซอฟท์-สกมช.’ คิกออฟ ความร่วมมือสกัด ‘ภัยไซเบอร์’
“ไมโครซอฟท์ - สกมช.” ร่วมยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทย คิกออฟความร่วมมือโครงการระดับโลก “Government Security Program” ประสานงานภาครัฐ แบ่งปัน-แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ Government Security Program (GSP)
โดยมุ่งสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีผ่านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับประเทศไทย พร้อมสานต่อการทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย
ไมโครซอฟท์เชื่อว่าความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนเพราะหากผู้ใช้ไม่สามารถไว้วางใจในเทคโนโลยีได้ ก็คงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นได้
สำหรับความร่วมมือกับ สกมช. ครั้งนี้จะเสริมศักยภาพด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรต่างๆ จำนวนมากจากเครือข่ายและทีมผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐของไทยสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจสูงสุด ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
ภายใต้ข้อตกลงนี้ ไมโครซอฟท์และ สกมช. จะเดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับภัยคุกคามความปลอดภัย ช่องโหว่ พฤติกรรมผิดปกติ ข้อมูลมัลแวร์ และประเด็นสำคัญด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ และในอนาคต
ขณะเดียวกัน มีโอกาสที่จะพิจารณาเพื่อขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมการเข้าถึงเอกสารทางเทคนิคหรือซอร์สโค้ดจากผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ หรือดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์เอกสารทางเทคนิคและซอร์สโค้ดอย่างละเอียด ณ ศูนย์ปฎิบัติการด้านความโปร่งใส (Transparency Center) ของไมโครซอฟท์ 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ บราซิล และจีน
พร้อมกันนี้ จะร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงทักษะในการกำกับดูแลการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับ Copilot for Security และการใช้งาน AI เพื่อสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและบุคลากรที่มีรับผิดชอบการดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure – CII)
สถิติระบุว่า สถานการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากบุคคลหรือองค์กรอาชญากรรมเพียงเท่านั้น แต่ขยายไปถึงการโจมตีโดยการสนับสนุนของรัฐบาล อย่างในเอเชียแปซิฟิก ไทยติดอันดับ 5 เป้าหมายการโจมตี
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เผยว่า ความร่วมมือแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับไมโครซอฟท์ภายใต้โครงการ GSP นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย
ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกระหว่างกัน ทั้งในด้านการทำงานของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ตลอดจนพัฒนาการของภัยไซเบอร์ล่าสุด และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลไทยมีข้อมูลสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์
รวมถึงการดูแลป้องกันและเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อต่อยอดความร่วมมือนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมกันทำการวิเคราะห์และพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้งานภายใน สกมช. ด้วยเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์อย่างต่อเนื่อง