หัวเว่ย - รัฐไทย เร่งบ่มเพาะ ‘บุคลากรดิจิทัล’ ตั้งเป้า 1 แสนคนภายในปี 68

หัวเว่ย - รัฐไทย เร่งบ่มเพาะ ‘บุคลากรดิจิทัล’ ตั้งเป้า 1 แสนคนภายในปี 68

หัวเว่ย ร่วมกับ กระทรวงอว. - แรงงาน จัดงาน Thailand Digital Talent Summit บ่มเพาะกำลังคน 1 แสนคน ในโครงการ Huawei ASEAN Academy ดันไทยเป็น ‘ฮับบุคลากรดิจิทัลอาเซียน’ ภายในปี 2568

หัวเว่ยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน และพันธมิตรชั้นนำ จัดงาน Thailand Digital Talent Summit ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สร้างศูนย์กลางบุคลากรดิจิทัลนำประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอัจฉริยะเพื่อสิ่งแวดล้อม”

โดยมีเป้าหมายผลิตบุคลากรดิจิทัลทั้งสิ้น 100,000 คนภายในปี 2568 ผ่านโครงการ 4 ด้านคือ สถาบันธุรกิจ สถาบันเทคนิค สถาบันวิศวกรรม และการลดความเหลื่อมล้ำดิจิทัล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงผู้ใช้งานทั่วไป

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหารหัวเว่ย ประเทศไทย ระบุว่า Huawei ASEAN Academy (ประเทศไทย) มุ่งพัฒนากลยุทธ์ 4 ประการสำคัญ ได้แก่สถาบันธุรกิจ (สำหรับระดับผู้บริหาร) เพื่อบ่มเพาะภาวะผู้นำด้านดิจิทัลสำหรับผู้บริหารองค์กร, 

สถาบันเทคนิค (สำหรับระดับนักพัฒนา) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เอสเอ็มอี และนักพัฒนาซอฟต์แวร์, สถาบันวิศวกรรม (สำหรับระดับผู้ประกอบวิชาชีพ) ที่มุ่งเน้นทักษะการปฏิบัติจริงสำหรับกลุ่มคนทำงาน และประการสุดท้ายคือ การลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (สำหรับระดับผู้ใช้งาน) เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงความรู้ด้านดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม

“ปัจจุบัน หัวเว่ยและพาร์ทเนอร์พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 96,000 คน ซึ่งรวมถึงบุคลากรผู้มีทักษะด้านดิจิทัล 72,000 คน, ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาคลาวด์และเอไอ 8,000 คน, วิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2,000 คน, บุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 5,000 คน, เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัป 3,500 ราย 

ทั้งยังจัดการฝึกอบรมให้กับนักเรียนและชุมชนในชนบท 6,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้หัวเว่ยได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งสถาบัน ICT Academy ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยกว่า 42 แห่งทั่วประเทศ” เดวิด หลี่ กล่าว

จิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การส่งเสริมส่งเสริมอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยของหัวเว่ย จะช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิชาการให้ มหาวิทยาลัยชั้นนำ

ได้แก่ มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (Beijing University of Post and Telecommunications), มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรเพื่อโลกสำหรับการทำงานในอนาคต

นอกจากนี้ หัวเว่ยก็ยังได้มอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที หัวเว่ยจัดโครงการแข่งขันด้านไอซีทีเพื่อชิงทุนการศึกษาในปี 2566-2567 โดยได้มอบ 9 รางวัลให้กับทีมผู้ชนะรางวัลใน 3 สาขา ได้แก่ ด้านเครือข่าย (Network) ด้านคลาวด์ และด้านการประมวลผล (Computing) โดยมีมูลค่ารางวัลรวมกว่า 1.4 ล้านบาท
 
“รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับหัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะระดับโลกในการส่งเสริมบุคลากรด้านดิจิทัลให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายของอุตสาหกรรมภายในประเทศ

โดยเราจะมุ่งตอบสนองความต้องการและมุ่งยกระดับและเสริมสร้างทักษะบุคลากรร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการและอุตสาหกรรมในการพัฒนาทักษะบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต” รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย 

ด้าน ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงความร่วมมือในมหกรรม Thailand Digital Talent Summit ว่า กระทรวงอว. พร้อมผนึกกำลังกับหัวเว่ยเพื่อผลักดันนวัตกรรมดิจิทัลและนโยบายการวิจัยที่ออกแบบโดยเฉพาะในการจัดหาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายส่งเสริมการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21