'หัวเว่ย' กำไรพุ่งสองเท่าท้าทายอำนาจสหรัฐฯ ยอดขายในจีนโต กดดันแอปเปิ้ล
"หัวเว่ย" โชว์กำไรพุ่งสองเท่าท้าทายการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กลับสู่ผู้เล่นห้าอันดับในตลาดสมาร์ทโฟนจีน ส่งธุรกิจคลาวด์-AI-เทคโนโลยี 5.5G และยานยนต์ บุกตลาดจีน กดดัน Apple
แม้ว่า "หัวเว่ย เทคโนโลยีส์" (Huawei) จะถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ แต่ผลประกอบการปี 2566 มีกำไรพุ่ง 2 เท่า แตะ 4.4 แสนล้านบาท จากรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น 9.6% เป็น 3.5 ล้านล้านบาทจากทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี
หัวเว่ย กลับมาเป็นผู้เล่นห้าอันดับแรกในตลาด "สมาร์ทโฟนจีน" สะท้อนสัญญาณที่ชัดเจนว่าบริษัทสามารถทนต่ออำนาจรวมถึงการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดของสหรัฐได้ ซึ่งการฟื้นตัวในครั้งนี้ของหัวเว่ยในประเทศ เป็นแรงกดดันต่อ แอปเปิ้ล (Apple) คู่แข่งหลักที่ตอนนี้ยอดขายเมื่อต้นปีชะลอตัวลงไปถึง 24%
หัวเว่ย ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก กล่าวว่า รายได้จากธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่โดนคว่ำบาตร เพิ่มขึ้น 17.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 เป็น 1.27 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว และแรงผลักดันดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้
รวมทั้งหัวเว่ยยังเปิดเผยอีกว่า ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ที่หัวเว่ยมุ่งเน้นพัฒนา หลังสหรัฐฯ ได้ตัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของอเมริกา ซึ่งรวมไปถึงระบบปฏิบัติการ Android ของ Google ตอนนี้มีการติดตั้งบนอุปกรณ์ต่างๆ มากกว่า 800 ล้านเครื่อง ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณ 330 ล้านเครื่องจากปีก่อน
Huawei ชัยชนะของจีน
ผลงานประจำปีที่แข็งแกร่งของ Huawei เกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัวโทรศัพท์ซีรีส์ Mate 60 Pro ซึ่งเป็นเรือธงเมื่อปีที่แล้ว บริษัทสามารถใช้ เทคโนโลยีชิป 7 นาโนเมตร ขั้นสูงในรุ่นไฮเอนด์ได้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการควบคุมการส่งออกที่จำกัดการเข้าถึงผู้ผลิตชิปชั้นนำระดับโลกก็ตาม
ขณะที่ สหรัฐฯกำลังพิจารณาควบคุมการส่งออกให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เนื่องจากความสำเร็จของ หัวเว่ย ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของจีนในการต่อสู้กับอเมริกาในด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยังคงอาศัย Qualcomm ผู้ผลิตชิปของสหรัฐอเมริกาในการจัดหาชิปมือถือ 4G สำหรับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่
Huawei ผ่านพ้นความท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า
นักวิเคราะห์จาก Canalys อย่าง Runar Bjorhovde กล่าวว่า หัวเว่ยกลับมาแข็งแกร่งในตลาดจีนอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยกลับเข้าสู่กลุ่มผู้เล่น 5 อันดับแรก "โมเมนตัมของหัวเว่ยยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องในช่วงเดือนแรกของปี 2567" เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม "การกลับมาครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ขายรายอื่นในตลาดสมาร์ทโฟนของจีนที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว" โดยหัวเว่ยมียอดขายหลักในประเทศจีนสูงถึง 94%
นักวิเคราะห์ Bjorhovde กล่าวว่า "Apple น่าจะรู้สึกถึงแรงกดดันมากที่สุดจากการกลับมาของหัวเว่ย ล่าสุดแอปเป้ลได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มการลงทุนในจีน รวมถึงการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อทำแคมเปญการตลาด ร่วมกับการเปิด Apple Store แห่งใหม่ และการมาเยือนของผู้บริหารอย่าง "ทิม คุก" (Tim Cook) ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามที่จะช่วยให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้นในจีน"
ผลการดำเนินงานโดยรวมของหัวเว่ยในปี 2566 "สอดคล้องกับการคาดการณ์" Ken Hu หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยกล่าว พร้อมเสริมว่า บริษัทสามารถเติบโตได้แม้จะมี "ความท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า"
ยอดขายโตทุกกลุ่มธุรกิจ
แม้จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร แต่หัวเว่ยประสบความสำเร็จในตลาดจีน โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีอนาคตอย่างปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างพื้นฐาน 5.5G นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปยังตลาดยานยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีต่อไป
- ธุรกิจคลาวด์โต้กระแส AI
รายได้ของธุรกิจคลาวด์ของหัวเว่ยเติบโตอย่างมากถึง 21.9% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สร้างสรรค์ (generative AI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ICT ยังแข็งแกร่ง
ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของ Huawei ซึ่งรวมถึงธุรกิจผู้ให้บริการและองค์กร ยังคงเป็นเสาหลักรายรับที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 2.3% เป็น 1.8 ล้านล้านบาท
- หัวเว่ยผู้นำตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคม
หัวเว่ย เป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลกอีกครั้งในปี 2566 ได้เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 5.5G ที่บ้านและต่างประเทศ รวมถึงในตุรกี บราซิล และตะวันออกกลาง รวมถึงบางรายในฟินแลนด์และเยอรมนีในอนาคต
- ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเติบโต
ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ที่เพิ่งก่อตั้งของบริษัทกลับมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปีที่แล้ว โดยบริษัทได้ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายราย เช่น Baic Group และ Seres แต่ให้บริการเฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น
อ้างอิง nikkei