อุตฯ ’ฮาร์ดดิสก์’ ในไทยยังสดใส ยึดฐานการผลิตระดับ ’เวิลด์คลาส’

อุตฯ ’ฮาร์ดดิสก์’ ในไทยยังสดใส ยึดฐานการผลิตระดับ ’เวิลด์คลาส’

อุตฯ ฮาร์ดดิสก์ในไทยยังมีอนาคต แม้โตไม่เท่า 10 ปีที่แล้ว ขณะที่ “80% ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลก” ผลิตในไทย ส่วน “โซลิดสเตต ไดรฟ์” ไทยไม่ได้เป็นฐานผลิต นายกฯ สมาคมอิเล็กทรอนิกส์ ยัน “เอสเอสดี” มีข้อจำกัด ราคา ความจุ ขณะที่ ฮาร์ดดิสก์ยังครองตลาดคลาวด์ - เซิร์ฟเวอร์ทั้งโลกกว่า 75%

KEY

POINTS

  • ส่อง 'อุตสาหกรรม ฮาร์ดดิสก์ไทย' ฐานการผลิตระดับโลกยังมีอนาคต  “80% ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลก” ยังผลิตในไทย
  • ฮาร์ดดิสก์ ยังครองตลาดคลาวด์ - เซิร์ฟเวอร์กว่า 75% เหมาะกับการเก็บข้อมูลปริมาณสูงๆ 
  • จับตา 'โซลิดสเตต ไดรฟ์ ' หรือ เอสเอสดี มาแรง หากยังมีข้อจำกัดเรื่องราคา เทคโนโลยี ความจุ 
  • นายกฯ สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ แนะรัฐ เร่งดึงองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี กับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ยกระดับเอสเอ็มอีไทย 

 

 

 

อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ในไทยยังมีอนาคต แม้โตไม่เท่า 10 ปีที่แล้ว ขณะที่ “80% ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลก” ผลิตในไทย ส่วน “โซลิดสเตตไดรฟ์” หรือ “เอสเอสดี” ไทยไม่ได้เป็นฐานผลิต นายกฯ สมาคมอิเล็กทรอนิกส์ ยัน “เอสเอสดี” ยังมีข้อจำกัด ราคา ความจุ ความเชื่อถือไม่เท่าฮาร์ดดิสก์ที่ครองตลาดคลาวด์-เซิร์ฟเวอร์ทั้งโลกกว่า 75% เชื่ออีก 5 ปีข้างหน้ายังไม่มีอะไรมาแทนฮาร์ดดิสก์ มั่นใจฮาร์ดดิสก์โลกยังยึดไทยเป็นฐานผลิต แนะรัฐดึงองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเทคฯ สู่เอสเอ็มอีไทย จับตา 3 ความเสี่ยง ‘ภูมิรัฐศาสตร์ พลังงานสีเขียว ภาษี GMT’ จุดเปลี่ยนสำคัญ

วันนี้ไทยยังเป็นฐานการผลิตส่งออกฮาร์ดิสก์ระดับโลกที่สำคัญ โดย 80% ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลกยังผลิตอยู่ในไทย มีบริษัทฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ อย่าง ซีเกท และดับบลิวดี ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ที่ผ่านมาเมื่อเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลถูกทรานส์ฟอร์มไปสู่อุปกรณ์จัดเก็บที่มีขนาดเล็กลง นำมาซึ่งคำถามว่าแล้ว ฮาร์ดดิสก์ เทคโนโลยีหลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ และไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญจะอยู่ในสถานการณ์ใด

 

‘ฮาร์ดดิสก์’ครอง ‘คลาวด์ เซิร์ฟเวอร์’ 75%

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงทิศทางอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในไทยว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์เติบโตสูงมาก เพราะถูกใช้ในหลายโปรดักต์ หลังจากนั้น โซลิดสเตต ไดรฟ์ (Solid state drive : SSD) หรือ เอสเอสดี ก็เข้ามาในตลาด กระทั่งวันนี้ ฮาร์ดดิสก์ 75% ยังครองตลาดในกลุ่มคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ แม้วอลุ่มของฮาร์ดดิสก์จะตกลง แต่เทคโนโลยีพัฒนาเพิ่มขึ้น ความจุต่อตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ราคาต่อความจุถูกลง เพราะเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง ดังนั้น เมื่อวอลุ่มตก ราคาก็ตกตาม

หากดูตัวเลขส่งออกของฮาร์ดดิสก์จะเห็นว่าตกตลอดในภาพใหญ่ แต่ธุรกิจนี้ทั้งโลก 80% ยังผลิตในไทย ถือเป็น Product of Thailand ขณะที่ หลายคนมองว่า ฮาร์ดดิสก์เป็นเทคโนโลยีเก่า ทุกคนหันมาที่ โซลิดสเตทหมด เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เทคโนโลยีทั้งคู่แอดวานซ์พัฒนาขึ้นทุกวัน ฮาร์ดดิสก์ ยังมีอาร์แอนด์ดี เติบโตอย่างยั่งยืน (sustain) เชื่อว่าตลาดคลาวด์ใน 5 ปีข้างหน้า ยังไม่มีอะไรมาทดแทนฮาร์ดดิสก์ได้

“จริงอยู่ว่า วอลุ่มฮาร์ดดิสก์ ลดลง แต่ความจุเพิ่มขึ้น ราคาต่อความจุถูกลง ทำให้การจ้างงานกลุ่มฮาร์ดดิสก์ค่อนข้างอยู่ตัว เพราะวอลุ่มนิ่ง ขยับขึ้นไม่ได้ เวลาดูธุรกิจนี้อย่าดูเรื่อง export อย่างเดียว ให้ดูเรื่องการจ้างงาน ซึ่งมันไม่ได้ตาย แต่มันยังอยู่ด้วยความคงตัวของมัน พนักงานยังมีโอที”

 

โซลิดสเตต ยังมีข้อจำกัดราคา เทคฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปฏิเสธว่า โซลิดสเตต แย่งตลาดฮาร์ดดิสก์ไป แต่ฮาร์ดดิสก์มีความอยู่ตัวในแบบเล็กๆ มั่นคงไปอีกยาวนาน เพราะเซิร์ฟเวอร์ กับคลาวด์โตปีละ 40% ฮาร์ดดิสก์ยังมีศักยภาพ รองรับการเก็บข้อมูลระดับสูงจำนวนมหาศาลได้มากกว่า หรือเรียกว่า High capacity drive เพราะคลาวด์ และเซิร์ฟเวอร์ มองว่า ฮาร์ดดิสก์ราคาถูกกว่าโซลิดสเตต 7 เท่าตัว มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ (reliability) ใช้ในการทำงานหนักๆ ได้มากกว่า

“การเติบโตของโซลิดสเตต จะเติบโตต่อไป ตัวฮาร์ดดิสก์จะไม่โต แต่จะนิ่งในระดับนี้ เพราะครองตลาดในคลาวด์กับเซิร์ฟเวอร์อยู่ ส่วนโซลิดสเตตจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง หรือเข้ามาแทนทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และราคา เรื่องความน่าเชื่อถือ ทั้ง 2 เทคโนโลยีไม่ตาย แต่จะพัฒนาเทคโนโลยีความจุไปเรื่อยๆ(เทคโนโลยี และราคาของโซลิดสเตตยังแข่งกับฮาร์ดดิสก์ไม่ได้) วันนี้ถ้าไปดู หุ้นทั้ง ซีเกท และดับบลิวดี ย้อนหลัง ก็ยังโตเกือบ 100% ถามนักลงทุนในแนสแด็ก หรือนิวยอร์กได้ ทำไมเขายังลงทุนใน ซีเกท และดับบลิวดี ดูราคาหุ้นได้เลยแสดงถึงเทคโนโลยีที่ยังมีอนาคต”

ดร.สัมพันธ์ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบัน ฮาร์ดดิสก์ 80% ของโลกผลิตอยู่ที่ประเทศไทย (โซลิดสเตต ไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิต) ไม่มีทางย้ายฐานไปไหน คู่แข่งอื่นเข้ามาไม่ได้เพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยีถูกผูกขาดอยู่ 2-3 ราย ส่วนภาพลงทุนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ยังมีการขยายการลงทุนอยู่เชื่อว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า อิเล็กทรอนิกส์จะโตขึ้นไปอีก

“ส่วนประเด็นที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นช่วงนี้ ก็เพราะนโยบายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศไหนเหมาะกับนักลงทุนรายไหน เขาก็ไปที่นั่น อย่างในไทย เราต้องมองว่า การลงทุนที่เข้ามาไทยมีสิทธิประโยชน์อะไรให้เขาบ้าง สามารถให้ได้เหมือนกับ มาเลเซีย เวียดนาม ไหม ถ้าเราให้เขาไม่ได้ เขาก็ต้องเลือกไปลงที่เหมาะกับเขา”

ยันอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ยังโตได้ 2 ดิจิต

สำหรับการเติบโตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยืนยันว่า 6 เดือนหลังของปีนี้ยังโตอยู่ แต่อาจไม่โตเท่าเพื่อนบ้าน ปีหน้าและปีถัดไปก็ยังโต เพียงแต่เปอร์เซ็นต์อาจไม่สูงเพราะข้อจำกัด เช่น ประเทศอื่นอาจมีนโยบาย ให้สิทธิประโยชน์ลงทุนดีกว่า มากกว่าประเทศไทย

ส่วนข้อเสนอถึงภาครัฐ ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนนโยบายลงทุนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล นโยบายถือว่าดี มีหลักการ และจุดยืนที่เหมาะสม มีความเชื่อมั่นซึ่งกัน และกัน การลงทุนเพิ่มยังมีอยู่ แต่ไม่โตเร็วขนาด 20-30%

“สิ่งที่รัฐ ควรทำให้เกิดคือ นโยบายการแลกเปลี่ยน เรียนรู้เทคโนโลยีให้ประเทศไทย คนไทย ดีกว่าไปดูตัวเลขการส่งออก เพราะอย่าลืมว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ราคาต่อหน่วยถูกลงทุกวัน เพราะการแข่งขันที่สูง”

ในส่วนผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์รายย่อยในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นต้นน้ำ ซัพพลายเชน ถ้าปลายน้ำยังอยู่เมืองไทย กลุ่มนี้ยังอยู่ได้ แต่อุตสาหกรรมนี้แข่งขันสูงมาก ทุกวันต้องวิ่งบนสายพานถ้าไม่ฟิตจริงก็ไม่รอด เพราะราคาถูกลงทุกวัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจต้องเข้ามาสนับสนุน หรือมีมาตรการบางอย่างช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี

“กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในไทยยังสดใส เชื่อว่า 3 ปีนี้โตแน่นอน ระหว่าง 5-10% แต่ถ้าวัดการเติบโตอย่างแท้จริงโดยไม่นับเรื่องราคาที่ถูกลงทุกวัน การเติบโตยังประมาณ 2 ดิจิต"

จับตา 3 ความเสี่ยงกระทบอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์

ดร.สัมพันธ์ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมมี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.ภูมิรัฐศาสตร์ 2.พลังงานสีเขียว ซึ่งไทยกำลังทำอยู่แต่ต้องทำให้เร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

“เรื่องของจีโอโพลิติก เดาไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ แต่ถ้ากระทบคือ ทั้งหมด เกิดการโยกวอลุ่มการผลิตจากเราไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เวลาโดนจะแรง แต่เราไม่รู้ว่า ความเสี่ยงสูงขนาดไหน เกิดเมื่อไหร่เราไม่รู้ ส่วนเรื่องกรีน ภายใน 3-5 ปี การแข่งขันจะเข้มข้นมาก ไทยควรเร่งให้นำหน้าประเทศอื่นในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน”

อีกความเสี่ยงที่สำคัญคือ เรื่อง Global minimum tax (GMT) ข้อบังคับที่เป็นสากล ทุกประเทศที่มีการลงทุนข้ามชาติ จะถูกบังคับให้จ่าย minimum tax 15% ซึ่งปัจจุบันไทยไม่ได้ภาษีส่วนนี้เลย ส่วนใหญ่บริษัทที่มาลงทุนอิเล็กทรอนิกส์จะจ่ายที่บริษัทแม่ ซึ่งก็จ่ายไม่ถึง 15% แต่ต่อไปทุกบริษัทข้ามชาติต้องจ่ายอย่างน้อย 15% สามารถเลือกจ่ายได้ว่า จะเลือกลงที่ประเทศไหน ดังนั้นถ้าไทยวางแผนให้ดีมีมาตรการแรงจูงใจ บริษัทข้ามชาติก็จะเข้ามาจ่ายภาษีในไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีนี้ อยู่ระหว่างการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

“15% ถ้าคำนวณจากกำไรของอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ในไทย จะอยู่ที่ราวแสนล้านบาท มาตการภาษีนี้เป็นทั้งความเสี่ยง และเป็นโอกาส จากที่ไทยไม่เคยได้ก็จะได้ หากเราทำมาตรการดี ใส่แรงจูงใจเข้าไป รัฐบาลไทยก็ได้ประโยชน์ การลงทุนในประเทศก็มากขึ้น เกิดการลงทุนใหม่ เพราะเขามองว่า ไทยมีมาตการรองรับภาษี 15% อุตสาหกรรมในไทยจะถูกยกระดับ ขณะที่มุมเสี่ยงหากไทยไม่มีมาตการที่จูงใจมากพอ เวียดนาม มาเลเซีย ทำดีกว่าเรา เขาก็จะได้ไป”

หนุนรัฐ จับมือผู้ผลิตแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ดร.สัมพันธ์ ได้ย้ำถึงสิ่งสำคัญที่รัฐควรต้องมองคือ เทคโนโลยีนี้อยู่กับไทยมา 40 ปี เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้รางวัล World class manufacturing จากระดับโลก แต่ไทยกลับไม่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ นำมาพัฒนาการศึกษา ทำวิเคราะห์วิจัยในประเทศเท่าที่ควร ต้องหันมาดูว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างประโยชน์ให้การศึกษา คนไทย เอสเอ็มอี ด้วยการแบ่งปันเทคโนโลยี ดึงประโยชน์ของการเป็น World class manufacturing มาช่วยสนับสนุนประเทศได้อย่างไร นี่คือ คีย์เวิร์ดสำคัญ

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ต่างมีส่วนสำคัญในการจ้างงานในประเทศ สนับสนุนซัพพลายเชนในประเทศได้ประโยชน์ เพียงแต่ว่า รัฐต้องไปร่วมมือกับบริษัท ในการแบ่งปันองค์ความรู้เข้ามาในประเทศให้ได้มากกว่านี้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์