‘อีคอมเมิร์ซ’ เร่งกลยุทธ์ งัดกำลังซื้อ 'นักช้อปออนไลน์'

‘อีคอมเมิร์ซ’ เร่งกลยุทธ์ งัดกำลังซื้อ 'นักช้อปออนไลน์'

การชอปปิงออนไลน์และการใช้งานโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการค้าปลีกในหลายมิติ

ช่วงหลังมานี้จึงได้เห็นความร่วมมือใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรายใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Meta, ลาซาด้า, ช้อปปี้ รวมถึง TikTok 

ข้อมูลระบุว่า ผู้บริโภคกว่า 84%ใช้เวลาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก เฉลี่ย 3.5 ชั่วโมงต่อวัน

ส่งผลให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้บริโภคค้นพบสินค้าใหม่ๆ ที่พวกเขาสนใจ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในช่องทางที่นักช้อปเลือกใช้เพิ่มขึ้นในการค้นหาสินค้าควบคู่ไปกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ปัจจุบันนักช้อปไทยถึง 50% ค้นหาสินค้าโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดีย และนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้ขายในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กว้างขึ้นผ่านการมองเห็นที่เพิ่มขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

‘ลาซาด้า’ เร่งติดอาวุธเอสเอ็มอี

ล่าสุด ลาซาด้า จับมือ Meta ติดอาวุธผู้ประกอบการไทย ผ่าน “เครื่องมือโปรโมตผ่านสื่อภายนอก (Lazada Sponsored Media)” ซึ่งเป็นโซลูชันที่จะช่วยเพิ่มยอดการเข้าชมและการมองเห็นของร้านค้า

พร้อมขยายขีดความสามารถในการเข้าถึงนักช้อปที่มีแนวโน้มสนใจสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Meta ผ่าน Lazada Seller Center

โดยโซลูชันที่ครบวงจรนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือระหว่างลาซาด้า และ Meta ซึ่งมุ่งเพิ่มยอดขายจากฐานผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Meta อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ Messengers

วสวัตติ์ คีรินทร์นนท์ หัวหน้าฝ่ายโซลูชันการตลาด ลาซาด้า ประเทศไทย เผยว่า ลาซาด้ามุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เครื่องมือดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ขายสามารถขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยเครื่องมือการตลาดอีคอมเมิร์ซที่ทันสมัยและครบวงจรที่ช่วบเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์ม

‘ช้อปปี้’ บูม ‘แชต คอมเมิร์ซ’

กลยุทธ์ของ Meta พยายามผลักดัน “แชต คอมเมิร์ซ” มาต่อเนื่อง รับโอกาสที่มีผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากถึง 9 ใน 10 คน ติดต่อกับธุรกิจผ่านแอปพลิเคชันแชทต่างๆ ในระหว่างขั้นตอนการซื้อสินค้า

ไม่นานมานี้ยังได้ร่วมมือกับทาง “ช้อปปี้” เปิดตัวฟีเจอร์ชอปปิงบน Messenger โดยเป็นโซลูชันการส่งข้อความทางธุรกิจใหม่ที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะ

มาพร้อมความสามารถในการสร้างประสบการณ์การซื้อที่ไร้รอยต่อ สามารถเชื่อมแคตตาล็อกสินค้าบนเฟซบุ๊ก ดูแคตตาล็อกภายในกล่องข้อความ และสั่งซื้อได้โดยไม่ต้องออกจากแชท ฯลฯ

TikTok เปิดประตู ‘Smart Economy’

ส่วน TikTok นอกจากการส่งเสริม “ครีเอทีฟ อีโคโนมี” ได้เพิ่มความร่วมมือใหม่ๆ กับทั้งภาครัฐและเอกชน ล่าสุด เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อยกระดับ SMEs ไทย โดยดึงจุดแข็ง Shoppertainment ติดปีกผู้ประกอบการ

ความร่วมมือดังกล่าวมีพันธกิจสำคัญ 3 ด้านคือ 1. สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เพื่อปลดล็อกโอกาสยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2. ขยายศักยภาพการเข้าถึงการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองบนแพลตฟอร์ม TikTok Shop และ 3. สร้าง คอมมูนิตี้เพื่อรองรับและพัฒนาไปสู่ “Smart Economy“

โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ตั้งเป้าฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการทำตลาดดิจิทัลรับเทรนด์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั้งสิ้นประมาณ 7,000 ราย ภายในปี 2567 ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งยังมีแคมเปญให้เครดิตโฆษณาเพิ่มการมองเห็น มูลค่ากว่า 3.6 ล้านบาท

TikTok ระบุว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จของแคมเปญ และยังคงเป็นความท้าทายหลักสำหรับนักการตลาด โดย 50% ของแคมเปญที่ประสบความสำเร็จนั้นเกิดจากคุณภาพของความคิดสร้างสรรค์

นักการตลาดระดับสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 79% ยอมรับถึงความสำคัญของการผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลาย แต่มีถึง 41% ที่ขาดทรัพยากรในการทำเช่นนั้น