ร้านค้า 'รับเฉพาะเงินสด' อุปสรรค เข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
การที่ผู้คนหันมาใช้ระบบดิจิทัลชำระเงินแทนเงินสดนั้น มีข้อดีในหลายด้าน ทั้งความสะดวกสบายที่ไม่ต้องพกพาเงินสด ความปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรม ลดต้นทุนการผลิต และบริหารจัดการเงินสด เพิ่มความโปร่งใสการทำธุรกรรม ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีและการฟอกเงิน
ยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก จากประสบการณ์การเดินทางไปต่างประเทศในหลายๆ ประเทศของผมช่วงหลังโควิด ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย รวมถึงจีน พบว่า ผู้คนแทบไม่ใช้เงินสดชำระค่าสินค้าและบริการกันแล้ว ส่วนใหญ่ยินดีที่จะรับบัตรเครดิตหรือชำระเงินผ่านแอปบนมือถือ ทำให้แทบไม่ต้องแลกเงินสดในการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงหลังๆ ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นยังคงใช้เงินสดมากกว่าประเทศอื่นๆ
การที่ผู้คนหันมาใช้ระบบดิจิทัลชำระเงินแทนเงินสดนั้น มีข้อดีในหลายด้าน ทั้งความสะดวกสบายที่ไม่ต้องพกพาเงินสด ความปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรม ลดต้นทุนการผลิต และบริหารจัดการเงินสด เพิ่มความโปร่งใสการทำธุรกรรม ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีและการฟอกเงิน ทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงินระหว่างประเทศอีกด้วย
ผมเป็นคนหนึ่งที่ใช้เงินสดน้อยมาก แต่ละเดือนจ่ายเงินสดเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น และเดือนหนึ่งไม่เกิน 5 ครั้ง เพราะไม่ว่าจะไปร้านเล็กแค่ไหน หรือแม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ก็สามารถโอนเงินได้หมด เวลาไปตลาดสดเจอผู้สูงอายุขายอาหารต้องซื้อของจำนวนเงินไม่กี่สิบบาท คนขายก็ปรับตัวเข้ากับสังคมดิจิทัลไปหมดแล้ว เพราะลูกค้าจำนวนหนึ่งอยากโอนเงิน หรือจ่ายพร้อมเพย์ ซึ่งสะดวกสบายกว่า ยิ่งเป็นจำนวนเงินน้อยโอนเงินทำให้ไม่ต้องแตกเงินหรือพกเหรียญมากนัก
ผมจำได้ว่ายอดเงินต่ำสุดที่ผมเคยโอนคือสองบาท ยิ่งน้อยขนาดนั้นยิ่งต้องโอน เพราะถ้าจ่ายเงินสดจะได้เหรียญหรือแบงค์เป็นจำนวนมากมาเก็บใส่กระเป๋าเงิน
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีร้านค้าบางแห่งติดป้ายว่า “รับเฉพาะเงินสด” และหลายร้านเป็นร้านที่ขายดีมีลูกค้ามากพอควร ถ้าติดป้ายหน้าร้านชัดเจนผมก็พยายามจะไม่เข้า เพราะไม่สะดวกในการชำระเงิน แต่บางครั้งก็เพิ่งจะทราบตอนจะชำระเงิน ส่วนใหญ่จะไม่บอกเหตุผลว่าทำไมจึงไม่อยากรับโอน จะว่าไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็ไม่น่าใช่ เพราะร้านค้าแผงลอยที่ผู้สูงอายุขายก็สามารถทำได้ และตรวจสอบได้ว่าลูกค้าโอนมาจริงหรือยัง จะห่วงว่าลูกน้องที่ร้านโกงก็ยิ่งแปลก เพราะการโอนเงินสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ชัดเจนยิ่งกว่าการรับเงินสด
ล่าสุดผมใช้บริการร้านอาหารแห่งหนึ่งปฏิเสธรับโอนเงินค่าอาหาร แม้จะมีป้าย QR Code อยู่ และบอกว่าจะโอนเงินได้ต้องมียอดชำระเงินเกิน 300 บาท ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าน่าจะเพราะกลัวมีธุรกรรมเข้าบัญชีเกินจำนวน 3,000 ครั้งต่อปี แล้วธนาคารต้องส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลัง จึงไม่อยากให้มีจำนวนธุรกรรมเข้าบัญชีมากเกินไป
ซึ่งน่าแปลกใจว่ายุคที่ระบบการชำระเงินดิจิทัลพัฒนาไปมากแล้ว แต่ทำไมร้านค้าเหล่านี้ยังยืนกรานที่จะใช้เงินสดในการทำธุรกรรม ทั้งๆ ที่การรับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking, พร้อมเพย์ หรือระบบ QR Code นั้น แทบจะไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลย
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่ร้านค้าเหล่านี้ไม่ยอมรับการชำระเงินด้วยช่องทางอื่น นอกจากเงินสดนั้น ก็น่าจะมาจากการต้องการหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร หรือแม้แต่การทุจริตภายในร้านค้าเองก็ตาม เพราะการใช้เงินสดทำให้สามารถซุกเงินและโกงได้ง่าย ยากต่อการตรวจสอบ
ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบร้านค้าที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะร้านค้าที่ดูมีรายได้สูง แต่กลับปฏิเสธรับชำระเงินด้วยช่องทางอื่นๆ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้อาจเข้าข่ายหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรืออาจมีการทุจริตที่ไม่ชอบมาพากลก็เป็นได้ ยิ่งถ้าร้านไหนเขียนป้ายว่า “รับเฉพาะเงินสด” อยู่หน้าร้าน ยิ่งควรไปตรวจสอบบ่อยครั้ง อาจต้องสุ่มดูรายได้เป็นรายเดือน จนกว่าร้านค้าจะยอมรับการชำระเงินเข้าระบบ
การตรวจสอบนี้นอกจากจะช่วยป้องกันการสูญเสียรายได้ของรัฐจากการเลี่ยงภาษีแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ลดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ที่มาพร้อมกับการหมุนเวียนเงินสดอีกด้วย เพราะเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งระบบการชำระเงิน ระบบการเปิดเผยข้อมูล และโซเชียลมีเดีย ล้วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ช่วยให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม
แม้การเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด อาจมีข้อกังวลบ้าง เช่น เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล แต่ข้อดีที่จะได้รับนั้น ก็คุ้มค่ามากกว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการแก้ปัญหาและลดข้อจำกัดต่างๆ สังคมไทยก็มีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในสังคมโดยรวมในระยะยาว
ที่สำคัญยิ่งในฐานะของผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ก็รู้สึกไม่เป็นธรรมที่ร้านค้าที่น่าจะมีรายได้ดี และควรต้องเสียภาษีเหล่านี้ หาวิธีหลีกเลี่ยงด้วยการสร้างความไม่สะดวกกับผู้เสียภาษี ด้วยการปฏิเสธการชำระเงินดิจิทัลด้วยข้อความหน้าร้านว่า “รับเฉพาะเงินสดเท่านั้น ขออภัยในความไม่สะดวก”