อดีตรองเลขาฯ กสทช.ชี้ 'พรเพชร' ยื้อส่งเรื่อง 'ประธาน กสทช.' ขาดคุณสมบัติ
อดีตรองเลขาฯ กสทช. ตั้งข้อสังเกต “พรเพชร” ยื้อนานนับเดือน ไม่ดำเนินการส่งเรื่องประธาน กสทช.ขาดคุณสมบัติ ไปยังนายกรัฐมนตรีนั้นอาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ทั้งที่ผลพิจารณาจาก กมธ.ไอซีที ชี้ชัด
ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวถึงกระบวนการพิจารณากรณีการขาดคุณสมบัติของนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. หลังจากที่คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา หรือ กมธ.ไอซีที มีความเห็นว่า นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติการเป็นประธานและกรรมการ กสทช.ตามระเบียบกฎหมาย พร้อมได้ส่งเรื่องไปยัง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นานนับเดือน และยังตั้งข้อสังเกตว่าการที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาไม่ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งหมดวาระอาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 หรือไม่
อีกทั้ง เลขาธิการวุฒิสภาก็สามารถส่งเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีหรือผู้เกี่ยวข้องได้
ทั้งนี้ มูลเหตุจากการที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2567 ถึงงานที่ยังค้างอยู่ ว่า สว.ชุดของตนได้ทำอะไรไว้เยอะ ส่วนที่ค้างอยู่ก็มีการทำบันทึกไว้ก็จะดูให้ และกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดใหม่ก็เอาไปดูหากเหมาะสมก็ทำต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมเขาก็มีสิทธิพิจารณาที่จะไม่ทำ หลายๆเรื่องค่อยๆติดตามไป อย่างบางเรื่องมีผู้สื่อข่าวบอกว่าตนทำไม่ถูกต้อง เช่น การยื้อส่งเรื่องประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ แล้ว ปัดให้ สว. ชุดใหม่ นั้น ซึ่งตนมองว่า เป็นปัญหาข้อพิพาทภายในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และได้ตั้ง กมธ.กสทช. ซึ่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา เขาเพิ่งพิจารณาเสร็จ และตนก็ไม่รู้ว่าเขาส่งมาวันไหน แต่รู้ต่อมาว่า เขาส่งไปที่เจ้าหน้าที่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. และเรื่องเพิ่งจะมาถึงตน
“ผมไม่ได้ระงับรายงานการตรวจสอบประธานกสทช.อะไรทั้งสิ้น จะระงับได้อย่างไรไม่มีประธานคนไหนจะไประงับ แต่ครั้งนี้เขาคิดว่าไม่ได้ดั่งใจเขา และคงคิดว่าประธานคงเป็นซุปเปอร์แมนหรืออะไรที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สว.ชุดใหม่ก็ชทำหน้าที่ต่อไป แต่เขามีอิสระ ถ้าเขาเอาเรื่องไปดูแล้วไม่เห็นชอบก็ต้องพิจารณาทำหน้าที่ไป” นายพรเพชร กล่าว
ซึ่งการที่ประธานวุฒิสภามีท่าทีว่า จะส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาชุดใหม่ ทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่ที่ชุดเดิม และ คณะกรรมาธิการได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง และเสนอเข้าคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เพื่อรับทราบผลการสอบสวนไปแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภา ที่จะต้องส่งรายงานไปยัง นายกรัฐมนตรี
ดังนั้น การไม่ส่งต่อรายงานการสอบสวนไปยัง นายกรัฐมนตรี เมื่อตนได้รับนั้น ในทางกฎหมายย่อมไม่อาจจะพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเป็นการประวิงเวลาเพื่อให้ประธาน กสทช.คนปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสิ้นสุดวาระไปเอง เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ม.157 หรือ เลี่ยงการทำหน้าที่ของตน ซึ่งประธานวุฒิไม่อาจยกข้ออ้างที่ว่า สว.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระเพราะมีการเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่และรับรองแล้ว เรื่องนี้ก็ ฟังไม่ขึ้น
ทั้งในแง่กฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะตามมาตรา 20 ของ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ก็กำหนดให้เมื่อกรรมการ กสทช. ขาดคุณสมบัติ ตามาตรา 7 หรือ กระทำการฝ่าฝืนตาม มาตรา 8 ก็ให้ดำเนินการส่งไปยังนายกฯ เพื่อทูลเกล้าให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่จำเป็นต้องขอมติของที่ประชุมวุฒิสภา แต่อย่างใด
เนื่องจากได้รับรายงานอย่างสมบูรณ์เป็นที่ยุติและมีการเปิดเผยรายงานสู่สาธารณะแล้ว ดังนั้น จะต้องดำเนินการตามอำนาจผูกพันตามมาตรา 20 ให้เสนอนายกทูลเกล้าเพื่อมีพระบรมราชโองการให้นายแพทย์สรณ พ้นจากตำแหน่ง
หากย้อนกลับไปดูรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้จัดส่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า นพ. สรณ ประธาน กสทช. มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง กสทช. จริง และกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามของการดำรงตำแหน่ง กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 และมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 18 มาตรา 20 ปรากฎตาม “บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ครั้งที่ 17/2567