'กสทช.' แจงชมรมวิทยุชุมชน เดินหน้าจัดสรรหากไม่แก้กม.
ชี้แต่หากยังไม่ได้มีการแก้กฎหมาย หรือแก้ไม่ทันช่วงเวลา ที่วิทยุทดลองออกอากาศ ต้องยุติหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้ ทาง กสทช.ก็จำเป็นต้องดำเนินการ ตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยกรณีที่ชมรมผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ว่า กสทช. ไม่ขัดข้องหากรัฐบาลจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
โดยที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้หารือกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่หากยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือแก้ไม่ทันช่วงเวลา ที่วิทยุทดลองออกอากาศ ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้ ทาง กสทช.ก็จำเป็นต้องดำเนินการ ตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
“ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนที่ยื่นหนังสือ เรียกร้องว่า จำนวนคลื่นลดลง และไม่ต้องการประมูล แต่ในความเป็นจริงคลื่นที่ลดลง คือ สถานีวิทยุประเภทธุรกิจ ที่ลดลงตามกฎหมายบัญญัติ แต่ วิทยุชุมชนกับสาธารณะมีสถานีเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ควรมาเรียกร้อง ส่วนที่ไม่ต้องการประมูลในส่วนวิทยุชุมชนและสาธรณะก็ไม่ได้มีการประมูลอยู่แล้ว ส่วนสถานีประเภทธุรกิจจะไม่ประมูลไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประมูล ซึ่งหลักเกณฑ์การประมูลฯ ได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ค.จะนำไปรับฟังความคิดเห็นของสาธาณะต่อไป”
พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาที่ บอร์ดกสทช. ได้อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการ กระจายเสียง หลังจากที่ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยเพื่อให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศ เข้าสู่ระบบเข้าสู่ระบบใบอนุญาต และให้ออกอากาศต่อไปได้ โดยปัจจุบันวิทยุทดลองออกอากาศ มีอยู่ 3,809 สถานี แบ่งเป็นชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานีที่ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธ.ค.67 นี้
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มได้ผ่านมติกสทช. และประกาศลง ในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสามารถรองรับสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้จากจำนวน 2,779 สถานี เป็น 3,346 สถานี และสามารถรองรับสถานีวิทยุประเภทชุมชน ที่ปัจจุบันมี 156 สถานี ได้มากขึ้นเป็น 168 สถานี และสถานีวิทยุ ประเภทสาธารณะ ที่ปัจจุบันมี 592 สถานี ได้มากขึ้นเป็น 670 สถานี
สำหรับสถานีวิทยุประเภทธุรกิจ ที่ปัจจุบันมี 3,061 สถานี ลดลงเป็น 2,508 สถานี ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องจัดสรร ให้ชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่า 25% จากนั้นจึงต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไป