ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯดิจิทัลยังไม่ฟื้น ผู้ประกอบการวอนรัฐช่วยหนุนลงทุน
ดีป้าเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 2/2567 ปรับตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้า
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 2 ประจำปี 2567 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย
- กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device)
- กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software)
- กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service)
- กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)
- กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication)
โดย ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวลงจาก 54.1 ของไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านคำสั่งซื้อฯ ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนปรับลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งทุน ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และ ราคาน้ำมันตลาดโลก ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้ามีส่วนให้กำลังซื้อในประเทศหดตัว กลับกัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับการลงทุนในศูนย์ข้อมูลและคลาวด์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น
ทั้งนี้ หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า 3 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 53.0 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 52.8 และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 54.0 ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 คืออยู่ที่ระดับ 48.5 และ 49.5 ตามลำดับ
“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างความชัดเจนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน จัดทำฐานข้อมูลกลางให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจรวมถึงส่งเสริมการเปิดตลาดในต่างประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนด้านดิจิทัลด้วยมาตรการทางภาษี” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว