'เอ็ตด้า' วางเป้าปี 70 ขยับสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 30% ของจีดีพี

'เอ็ตด้า' วางเป้าปี 70 ขยับสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 30% ของจีดีพี

เอ็ตด้าโชว์แผนปี 68 หลังผลงาน 4 ปีโดดเด่น ทั้ง กำกับ-ส่งเสริม สู่อนาคตดิจิทัลที่มั่นใจของทุกคน ชูสัดส่วน 30:30 ภายในปี 2570 เพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มให้ได้ พาไทยขึ้นอันดับที่ 30 ด้านการแข่งขันประเทศ เร่งเฮียริ่งประกาศกำหนดมาตรฐานแพลตฟอร์มดิจิทัลภายในต.ค.นี้

ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวว่า กว่า 14 ปี ของเอ็ตด้ากับการขับเคลื่อนอนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้ก้าวสู่สังคมดิจิทัลด้วยบทบาทสำคัญ ทั้ง ‘Co-Creation Regulator’ กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ควบคู่ไปกับบทบาท  ‘Promoter’ มุ่งส่งเสริม รัฐ เอกชน SMEs ผนวก Tech Provider ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายใหญ่ 30:30 ทั้งการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เพิ่มเป็น 30% ของ GDP และนำพาประเทศไทยขึ้นสู่ 30 อันดับแรกของโลก ในด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลภายในปี 2570 

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเรื่องมาตรการในการควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม หรือ ดีอี โดยปลัดกระทรวง เป็นประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ร่วมกับ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะออกร่างประกาศ อีมาร์เก็ตเพลส ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกับสินค้าของผู้ประกอบการไทย คาดว่า จะนำร่างประกาศดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในไม่เกินต้นเดือนต.ค.2567 นี้ 

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยง กำหนดรายชื่อแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เข้าข่ายความเสี่ยง ว่ามีใครบ้าง จากนั้นต้องกำหนดมาตรฐานของสินค้าให้แพลตฟอร์มต่างชาติปฏิบัติตามเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่ต้องมีทั้งมาตรฐาน มอก.และ อย. สามารถตรวจสอบได้ ผู้ใช้บริการต้องสามารถร้องเรียนได้ ตลอดจนประเด็นการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการต้องไม่สุ่มเสี่ยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศ \'เอ็ตด้า\' วางเป้าปี 70 ขยับสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 30% ของจีดีพี

ทั้งนี้ ขั้นตอนการประกาศบังคับใช้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม จากนั้นจึงเสนอเข้าอนุกรรมการด้านกฎหมาย และเสนอให้บอร์ด เพื่ออนุมัติเห็นชอบ โดยหลังจากประกาศต้องให้เวลากับแพลตฟอร์มว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในกี่วัน เพื่อให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีเวลาในการเตรียมระบบตรวจสอบตามมาตรฐานของประเทศไทย

นายชัยชนะ กล่าวว่า นอกจากนี้ เอ็ตด้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ร่างพ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเดิมการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดของ กขค.นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก่อน ทว่าแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ข้อมูลอยู่ต่างประเทศ กขค.จึงไม่มีอำนาจในการขอข้อมูลจากต่างประเทศ 

แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และครม.มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากยังมีการต่อสู้ทางความคิดกันอยู่ ระหว่างคนร่างกฎหมาย และคนต้องการบังคับใช้ในประเด็นควรกำกับดูแลหรือไม่ หากกำกับดูแลจะเป็นการปิดกั้นเทคโนโลยีด้วยหรือไม่ \'เอ็ตด้า\' วางเป้าปี 70 ขยับสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 30% ของจีดีพี

สำหรับ การดำเนินงานในปี 2568 ชูแนวคิด ‘ก้าวที่มั่นคงเพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ’ 

1. ต่อยอด Digital Infrastructure and Ecosystem - โดยเน้นงาน 4 กลุ่มสำคัญ คือ

  1. Document Management  เสริมศักยภาพโครงสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
  2. Digital Platform Services เพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล 
  3. AI Governance & Data Sharing เสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
  4. Legal & Standard พัฒนา และปรับปรุงกฎหมายมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง พร้อมมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ผ่าน Innovation Sandbox 

2. เร่งกลไก Digital Service and Governance

ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมสำหรับ การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ผ่านกลไกทั้งมาตรฐาน แนวปฏิบัติ (Best Practices) เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่จะช่วยลดความเสี่ยง และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ ผนวกการวิเคราะห์
ผลกระทบ เช่น Labor Platform และ e-Commerce Platform เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม และสนับสนุนการมีคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเกิด Self-regulation 

3. เสริมความเข้มข้น Digital Adoption and Transformation

โดยผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐ และเอกชนที่มากขึ้น โดยเฉพาะบริการรัฐที่ตั้งเป้าเชื่อมระบบให้ได้ 80% ภายในปี 2568 นี้ มีแนวทางการใช้งาน Digital Document Wallet สำหรับการทดลองใช้งาน พร้อมกับส่งเสริมการใช้งานผ่านแคมเปญ MEiD (มีไอดี)

และติดสปีด SMEs ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจ โดยนำโมเดลการทำงานขยายลงพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่นอกจาก ภาคการค้า การบริการแล้ว ยังขยายต่อในภาคการเกษตร มุ่งเน้นการเพิ่มความรู้ เพิ่มรายได้ ขยายฐานลูกค้า และตลาดให้มากขึ้น

4. เพิ่มประสิทธิภาพ Digital Workforce, Literacy & Protection  

ผ่านการดำเนินงาน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 

1) เพิ่มปริมาณแรงงานเฉพาะด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ตั้งเป้า 90,000 คนในปี 2570  

2) เพิ่มรายได้ชุมชน และลดอัตราการว่างงาน ตั้งเป้าปี 2570 มีชุมชนเข้าร่วม 1,000 ชุมชน โดยต่อยอดโมเดลการพัฒนาชุมชนในระดับภูมิภาค จับมือพาร์ตเนอร์ ปั้นโค้ชดิจิทัลชุมชนผนวกการพัฒนาชุมชนทั้งการเพิ่มความรู้ และการผนวกเครื่องมือทางออนไลน์ พร้อมผลักดันสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ก่อนส่งต่อพาร์ตเนอร์เพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง 

3) เสริมสร้างให้คนไทยรู้เท่าทันเทคโนโลยี และภัยออนไลน์ ขยายต่อเนื่องในกลุ่มเปราะบาง ตั้งเป้ามี EDC Trainer กระจายลงอำเภอเพิ่มขึ้นอีก10% (ไม่น้อยกว่า 80 อำเภอ) และมี 2570 เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% พร้อมเผยแพร่ความรู้และสื่อ และเสริมการวัดผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในเชิงพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดสร้าง Community เครือข่ายการทำงาน เพิ่มความยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์