‘ไซเบอร์จีนิคส์’ เปิด '7 ความท้าทาย' ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 2025
“ไซเบอร์จีนิคส์” มองเทรนด์ ความท้าทายที่ธุรกิจองค์กรจะต้องเผชิญในปี 2025 ตอกย้ำ Zero Trust และ AI Trust แนวทางรับมือภัยไซเบอร์ยุค AIตัวช่วยเสริมเกราะของความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งอนาคต
ยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไม่หยุดนิ่งและภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวและก้าวตามให้ทันกับสถานการณ์
อัตพล พยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเครือ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) เผยถึงความท้าทายที่ธุรกิจองค์กรจะต้องเผชิญในปี 2025 ซึ่งประกอบด้วย
- 1. การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ องค์กรหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านไซเบอร์ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะบุคลากรจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- 2. ระบบที่ล้าสมัย การใช้ระบบเทคโนโลยีที่ไม่มีการอัปเดตจะทำให้เกิดช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัย จึงควรปรับปรุงระบบให้ทันสมัยเพื่อป้องกันการโจมตีอยู่เสมอ
- 3.ความซับซ้อนของการโจมตี ผู้โจมตีมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การโจมตีแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อปรับแต่งการโจมตี องค์กรจึงต้องสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็ว
- 4. ความเสี่ยงจากห่วงโซ่อุปทาน การโจมตีผ่านห่วงโซ่อุปทานเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่องค์กรต้องเผชิญโดยเฉพาะเมื่อมีการใช้บริการจากบุคคลที่สาม การตรวจสอบและควบคุมโดยผู้ให้บริการจึงเป็นสิ่งจำเป็น
- 5. การตอบสนองที่ช้า ในกรณีที่เกิดการโจมตี องค์กรอาจไม่สามารถตอบสนองได้ทันที เนื่องจากขาดกระบวนการและระบบที่เหมาะสมในการจัดการกับเหตุการณ์ การเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือจึงมีความสำคัญ
- 6. ความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก ทำให้องค์กรตกเป็นเป้าหมายของผู้โจมตี และความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัว องค์กรจึงต้องมีมาตรการในการปกป้องข้อมูลอย่างเข้มงวด
- 7. การใช้ AI ในทางที่ผิด อาชญากรไซเบอร์เริ่มใช้ AI และ Machine Learning เพื่อสร้างการโจมตีที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การป้องกันเป็นเรื่องท้าทาย องค์กรควรพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ
การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 มากกว่า 60% ขององค์กรทั่วโลกจะนำแนวคิด Zero Trust มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนาขีดความสามารถและสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในลักษณะนี้จะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
สอดคล้องกับความเชื่อของ ไซเบอร์จีนิคส์ ที่ว่าการสร้างความปลอดภัยเชิงรุกผ่านเทคโนโลยี Zero Trust และ AI จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ในสภาวะที่ภัยคุกคามมีความซับซ้อนมากขึ้น เทคโนโลยี AI จะช่วยให้การตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ Zero Trust เน้นการตรวจสอบทุกการเข้าถึงข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ภัยคุกคามเล็ดลอดเข้ามาจากทั้งภายนอกและภายในองค์กร
การใช้เทคโนโลยี AI และ Zero Trust ไม่เพียงเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับองค์กร แต่ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจเติบโต สามารถพัฒนาและแข่งขันได้อย่างมั่นคงในโลกดิจิทัลที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์เพื่อรองรับโลกอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI Trust และ Zero Trust คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเดินหน้าสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล